ถ้ากระทำแต่ความดีโดยไม่ต้องนั่งกรรมฐานจะมีสิทธิ์ตกนรกไหม?

 

                          เมื่อข้าพเจ้าเลิกดื่มสุราได้แล้ว การบำเพ็ญทานและการรักษาศีล ข้าพเจ้าก็เป็นไปโดยง่าย ไม่มีอะไรติดขัด ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคขัดขวาง ทำให้เกิดการไขว้เขวอีกต่อไป จึงนับว่าข้าพเจ้าได้เหยียบย่างขึ้นสู่บันไดขั้นที่๑ อันเป็นความงามเบื้องต้นของพระพุทธศาสนาได้แล้วอย่างค่อนข้างมั่นคงทีเดียว แต่คนอย่างข้าพเจ้าย่อไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ จะต้องพยายามหาทางก้าวเดินเข้าสู่บันไดขั้นที่สอง คือการเจริญภาวนาให้ได้ฌานสมาบัติให้จงได้

 

                          ด้วยเหตุนี้ในคืนวันหนึ่ง ข้าพเจ้าจึงเข้าไปไหว้พระสวดมนต์ ตามที่หลวงพ่อเคยสอนไว้ (จะสวดอะไรบ้างนั้นขอท่านผู้อ่านจงเปิดดูใน คู่มือปฏิบัติกรรมฐาน ที่หลวงพ่อเขียนไว้เถิด เพราะขณะนี้ได้มีการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มไว้แล้ว) แล้วลองนั่งดูตามแบบฉบับของการนั่งกรรมฐาน คือ นั่งขัดสมาธิเพชร นั่นเอง ต่อจากนั้นก็เริ่มระลึกถึงลมหายใจเป็นอารมณ์ (อาณาปานุสติกรรมฐาน) แล้วกำหนดเอา “พุทโธ” เป็นองค์ภาวนา (พุทธานุสสติกรรมฐาน) คือหายใจเข้าภาวนาว่า “พุท” หายใจออก “โธ” และชั่วระยะเวลาที่ผ่านไปเพียงไม่กี่นาที ข้าพเจ้าก็เริ่มรู้สึกคันเนื้อคันตัว โดยเฉพาะใบหน้าเหมือนมีแมลงมาเดินไต่ ยิ่งหักห้ามใจสะกดนิ่งไว้ เจ้าแมลงที่ว่าก็ดูเหมือนจะเดินไปข้างหูบ้าง จมูกบ้าง จนข้าพเจ้าทนไม่ไหว ต้องใช้มือคอยปัด และเกาตามเนื้อตามตัวที่คันอยู่บ่อยๆ อดนึกขำไม่ได้ที่คนเคยเอาปัญหานี้ถามหลวงพ่อ แล้วหลวงพ่อเย้าว่า

 

                           “ไอตัวสมาธินี่มันคันใช่ไหม อย่าไปสนใจมันนะ ปล่อยไป เดี๋ยวมันหายคันเองแหละ” เอ้า!..ปล่อยก็ปล่อย ข้าพเจ้ากำหนดจิตจับอยู่แต่ลมหายใจเข้า-ออก และภาวนาองค์ “พุทโธ” ต่อไป ความคันต่างๆที่เกิด หายไปจริงๆ แต่ความเจ็บตาตุ่มซึ่งติดกับพื้นกระดานนี่สิ มันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้นที่ก้นกบอีกแห่งหนึ่ง ก็ดูเหมือนจะมีอาการเจ็บปวดขึ้น และแม้ว่าข้าพเจ้าจะหาเบาะมารองพื้น และนั่งใหม่ ก็หาได้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นไม่ มิหนำซ้ำขาทั้งสองข้างของข้าพเจ้า กลับเกิดอาการเหน็บชาขึ้นจนขยับเขยื้อนไม่ได้เลยอีกด้วย เป็นอันว่าการเจริญภาวนาของข้าพเจ้าในคืนนั้นประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง คิดไม่ถึงจริงๆว่าการเจริญภาวนานั้น ทำไมจึงช่างยากเย็นและทุกขเวทนาเช่นนี้ และถ้าแก้ไขไม่ตกก็เห็นทีข้าพเจ้าจะก้าวสู่บันไดขั้นสอง ไม่ได้แน่ ดังนั้น ในวันหนึ่งข้าพเจ้าจึงได้ถามหลวงพ่อว่า

                          “หลวงพ่อครับ ถ้าผมกระทำความดีโดยไม่ต้องนั่งกรรมฐาน จะมีสิทธิ์ตกนรกไหมครับ?”

                          “มีสิทธ์ตกแน่” หลวงพ่อตอบทันที

 

                          “อ้าว!..ก็พระพุทธเจ้าสอนว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มิใช่หรือครับ??” ข้าพเจ้าแย้ง

                          “ใช่ แต่คุณหรือคนธรรมดาทั่วๆไป จะมีใครกระทำความดีได้ทั้ง ๑๐๐%เล่า มีแต่ทำดีมาก ทำชั่วน้อย หรือทำชั่วมาก ทำดีน้อย จริงไหม? ไม่ใช่พระอรหันต์นี่ ท่านมีสติทุกลมหายใจเข้าออก จึงจะทำความดีได้ทั้ง๑๐๐%” หลวงพ่ออธิบาย

                          “แต่หลวงพ่อนี่ครับว่า กานบำเพ็ญทานและการรักษาศีลนั้นก็ถือเป็นความงามเบื้องต้นของพระพุทธศาสนา หากตายไปก็มีสิทธิ์ไปจุติเป็นเทวดา เสวยสุขในสวรรค์ได้” ข้าพเจ้าแย้งเพราะยังข้องใจอยู่

 

                          “เก่งนี่ ที่จำได้ แต่นั่นต้องหมายความว่า ก่อนตาย จิตของคุณก่อนที่จะแยกจากกาย ต้องจับอยู่ในกุศลผลบุญของทาน ศีล ที่คุณทำมาด้วยนะจึงจะไปเกิดเป็นเทวดาได้ แต่ถ้าจิตของคุณก่อนที่จะแยกจากกายไปจับอยู่ในกรรมชั่วแม้เพียงน้อยนิด คุณก็จะต้องไปรับกรรมชั่วก่อน ต่อเมื่อชดใช้กรรมชั่วจบสิ้นแล้วนั่นแหละ คุณจึงจะมีสิทธิ์ไปเสวยผลกรรมแห่งความดีนะ” หลวงพ่ออธิบาย

                          “มีข้อแม้ด้วยหรือครับ?” ข้าพเจ้าถามอ้อมแอ้ม

 

                          “ใช่!.. บางคนทำความดีถึง ๘๐% ทำความชั่วเพียง ๒๐%ก็มิได้หมายความว่าจะลบล้างกันได้เหลือความดีอยู่ ๖๐%นะ กรรมดีและกรรมชั่วนั้นแยกกันโดยเด็ดขาด อยู่ที่ว่าจิตของคุณก่อนที่จะแยกจากกายนั้นไปจับอยู่ที่กรรมดี หรือกรรมชั่วตางหาก ถ้าหากบังเอิญก่อนตายจิตไปจบเอากรรมชั่วแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจลงนรกก่อนได้ และในทำนองเดียวกัน หากแม้คุณทำความชั่วมา๘๐% ทำความดีเอาเพียง๒๐% หากจิตของคุณก่อนแยกจากกาย ไปจับกรรมดีเพียงน้อยนิดเข้า ก็สามารถไปเสวยสุขในสวรรค์ก่อนได้นะ ด้วยเหตุนี้คนเฒ่าคนแก่ จึงมักจะไปคอยให้สติแก่คนใกล้ตายเสมอ โดยให้คนตายภาวนา “พุทโธ”บ้าง “สัมมาอะระหัง”บ้างเป็นต้น แต่ไม่เป็นผลหรอกนะ ถ้าผู้นั้นไม่เคยฝึกนั่งกรรมฐานมาก่อน” หลวงพ่ออธิบาย

 

                          “จริงครับหลวงพ่อ ขนาดผมเจ็บไข้ได้ป่วยสักนิด ยังทำจิตให้สงบ จับอยู่ในองค์พุทโธ เพียงแค่สัก๒-๓นาทีไม่ได้เลยครับ”ข้าพเจ้ารีบสารภาพตามความเป็นจริง

 

                          “จะต้องฝึกให้ชำนาญนะ จึงจะทำได้ เหมือนนักมวยนั่นแหละ แม้จะมีพี่เลี้ยงยืนตะโกนสอนอยู่ข้างเวทีให้ฮุคขวา ฮุคซ้าย เตะก้านคอ ศอกเข่า เขาก็ทำไม่ได้นะ หากมิได้ฝึกซ้อมจนเกิดความชำนาญมาก่อน


ดังนั้นหากใครก็ตาม สามารถฝึกกรรมฐานได้จนช่ำชอง ก็อาจสามารถกำหนดจิตไปวางอยู่ ณ ที่ใดก็ได้นะ ยิ่งฝึกจิตก็ยิ่งเชื่องนะ แม้ทำกรรมชั่วไว้มาก ทำกรรมดีไว้เพียงน้อยนิด เขาก็สามารถกำหนดจิตของเขาไปวางไว้ในส่วนของกรรมดีได้ โอกาสลงนรกเขาจึงไม่มี และเมื่อเขาได้โอกาสไปเสวยสุขก่อน ได้อยู่ในกลุ่มของคนดี เขาก็มีโอกาสสร้างผลบุญได้มาก และในทุกครั้งที่สร้างกรรมดี ถ้าเขาอุทิศส่วนกุศลผลบุญให้แก่เจ้ากรรมนายเวรไปเรื่อยๆ หากเจ้ากรรมนายเวรเหล่านั้นไม่ถือผูกโกรธพยาบาท และอภัยให้ในคุณงามความดีของคุณ แล้วไม่ติดใจทวงหนี้คืนจากคุณนั่นแหละ คุณก็ไม่ต้องหาเงินไปใช้หนี้เขาใช่ไหม?


                          ดังนั้น หากคุณฝึกนั่งกรรมฐานได้ช่ำชอง คุณจะได้เปรียบมากนะ อย่างน้อยที่สุด ก่อนตายก็สามารถกหนดจิตของคุณไปวางในกรรมดี แล้วไปเสวยสุขตามกุศลผลบุญที่คุณทำมาได้นะ อย่าลืมว่าการตายเป็นสิ่งที่ไม่ควรกลัว แต่สิ่งที่ควรกลัวคือการเกิดต่างหาก ด้วยเหตุนี้ การนั่งกรรมฐานจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากนะ เพราะจะเป็นตัวกำหนดการเกิด ดังที่ฉันพูดมาแล้วได้ด้วย นอกจากนั้น ประโยชน์ของการนั่งกรรมฐานยังมีอีกมาก


อาทิเช่น หากสามารถทำจิตให้สงบเพียงชั่วระยะเวลาแค่ช้างกระดิกหูก็ได้บุญ มากกว่าการให้ทาน และการรักษาศีลเสียอีก หากจิตสงบเพียง ๕นาที ๑๐นาที ก็อิ่มเอมกว่านอนหลับตั้งหลายชั่วโมง และถ้านำไปวิปัสสนาญาณ ก็จะเกิดปัญญา รู้แจ้งเห็นจริง ละกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม อันเป็นหนทางสู่โลกุตระ ซึ่งเป็นทางเดินของพระอริยเจ้าได้ และที่สำคัญที่สุดก็คือ การนั่งกรรมฐานนั้นเป็นการให้จิตซึ่งเป็นมิตรแท้ของเราได้พักผ่อนด้วยนะ ทุกวันนี้คนเรามักจะเอาใจกาย ซึ่งเป็นมิตรเทียม แต่มิได้เอาใจจิตซึ่งเป็นมิตรแท้เลยนะ” หลวงพ่ออธิบายอย่างละเอียด

 

                          “เอ!.. หลวงพ่อครับ ปมชักงงๆ เรื่องจิตและกาย ที่หลวงพ่อพูดมากขึ้นทุกทีแล้วละครับ จิตกับกาย ของคนเรามิได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรอกหรือครับ ?” ข้าพเจ้าถามด้วยความไม่เข้าใจจริงๆ

 

                          “จิตก็คือจิต กายก็คือกายนะ จิตมิใช่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของกายนะ เสมือนคนขับรถ ก็มิใช่ส่วนหนึ่งของรถ กล่าวคือคนขับรถมิใช่พวงมาลัย มิใช่เพลา มิใช่ลูกล้อ มิใช่ตัวรถฉันใด จิตก็มิใช่หัวใจ ไส้ ปอด มันสมองอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งฉันนั้น เมื่อรถเกิดเสียคนขับก็พยายามซ่อม พยายามแก้ไข อย่างสุดความสามารถ แต่เมื่อแก้ไขไม่ได้ คนขับรถก็ต้องทิ้งรถหารถใหม่ฉันใด จิตก็ฉันนั้นนะ เมื่อกายเกิดเจ็บป่วย ก็นำกายไปหาหมอรักษาเยียวยา แต่เมื่อไม่สามารถจะแก้ไขเยียวยาได้ จิตก็จำต้องทิ้งกายไปฉันนั้น” หลวงพ่ออธิบาย และเมื่อเห็นข้าพเจ้ายังสนใจฟังอยู่ ก็พูดต่อว่า


                          “คุณไปเอาอกใจกายของคุณมามากต่อมากแล้วนะ อยากกินอะไรไม่ว่าจะใกล้ไกลแค่ไหนเพียงไร คุณก็พากายไปกินจนได้ อยากจะกินเที่ยวที่ไหน อยากจะดูอะไร คุณก็พากายไปเที่ยว ไปดู อยากจะสวยอยากจะงาม เสียเงินสักเท่าไร่คุณก็สรรหามาแต่งให้กายคุณจนได้ อยากจะฟังอะไรคุณก็พากายไปฟัง หรือไม่ก็หาซื้อเครื่องเสียงมาเปิดฟัง แต่คุณขอร้องอะไรกายของคุณได้บ้างไหม ลองใคร่ครวญให้ดีซิ เวลาเกิดปวดหัว ปวดฟัน คุณขอร้องมิให้ปวดได้บ้างไหม? เมื่อผมหงอก ผมร่วง คุณขอร้องมิให้หงอก มิให้ร่วงได้ไหม?

 

เวลาคุณแก่คุณขอร้องไม่ให้แก่ได้ไหม? และเวลาคุณจะตาย คุณขอร้องว่าอย่าเพิ่งตายได้ไหม? มันไม่เคยยอมทำตามที่คุณขอร้องเลยสักอย่างเดียวนะ นี่หรือมิตรแท้ มิตรแท้ก็ต้องฟังกันบ้างสิ ยามสุขก็ต้องสุขด้วยกัน ยามทุกข์ก็ต้องทุกข์ด้วยกันสิถึงจะถูก นี่อะไรทำชั่วไว้มาก พอตายนอนแหงแก๋ ไม่ยอมตามไปรับกรรมในนรกด้วย ปล่อยให้จิตเป็นผู้รับภาระหน้าที่ในการใช้กรรมเอาดื้อๆ เห็นไหมว่า มิตรที่แท้จริงของคุณก็คือจิต มิใช่กาย เพราะจิตนั้นไม่มีวันตาย และจะติดตามคุณไปทุกภพทุกชาติ ไม่ว่าจะรับกรรมหรือเสวยสุขนะ แต่คุณจะเอาใจมิตรแท้หรือจิตของคุณบ้างไหม เปล่าเลย คุณใช้จิตอย่างไม่เคยว่างเว้น ใน๕นาทีคุณคิดไม่รู้กี่เรื่องจริงไหม มิหนำซ้ำยามนอนคุณคุณก็ยังไม่ละเว้นที่จะใช้จิต จึงได้ฝันละเมอเปรอะไปหมด คุณทารุณโหดร้ายต่อจิตซึ่งเป็นมิตรแท้ของคุณมามากแล้วนะ” หลวงพ่ออธิบายย้ำ 

 

                         “แล้วผมจะเอาใจจิตซึ่งเป็นมิตรแท้ ได้อย่างไรครับหลวงพ่อ ?” ข้าพเจ้าถามด้วยความอยากรู้

 

                         “ก็นั่งกรรมฐานซิ เมื่อจิตว่าง จิตได้พักผ่อน เมื่อจิตได้พักผ่อนก็เกิดอิ่มเอม มีพลังกล้าแข็ง ยังไงล่ะ” หลวงพ่อตอบยิ้มๆ

                          “เมื่อคืนก่อนผมลองนั่งดูบ้างแล้วครับ แต่ทนทุกขเวทนาไม่ได้ จึงต้องเลิกนั่ง” ข้าพเจ้าตอบแล้วเล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าในการนั่งให้หลวงพ่อฟัง ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้น ซึ่งเมื่อหลวงพ่อได้ฟังแล้วก็หัวเราะพูดว่า

 

                          “เอ๊ะ!..คุณนี่เอาจริงไม่เลวนะ แอบไปนั่งกรรมฐานจนค้นพบว่าตัวสมาธินี่มันคัน มันเมื่อยเสียแล้ว แต่อย่างน้อยก็ได้บุญแล้วนะ เพราะมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติธรรม แค่ตั้งใจก็ได้บุญแล้วนะ ความจริงการเจริญพระกรรมฐานนั้น ไม่จำเพาะแต่จะต้องมานั่งกรรมฐานอย่างเดียวเท่านั้นนะ ท่านให้ทำได้ถึง ๔ อิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง หรือนอน ก็ได้นะ และการนั่งไม่จำเป็นต้องนั่งให้ถูกตามแบบฉบับนัก หากนั่งกับพื้นไม่ได้ ก็นั่งบนเก้าอี้ซิ หรือไม่ก็นอนสบายๆ บนเก้าอี้ผ้าใบก็ได้ เราฝึกจิตนะ ไม่ใช่ฝึกทรมานกาย พระพุทธเจ้าเองท่านก็สอนให้ เดินสายกลาง มิให้ตึงไป มิให้หย่อนไป ถ้ากำหนดกฎเกณฑ์มากมายนัก คนสูงอายุก็ดี คนอ้วนก็ดี ที่ไม่สามารถนั่งขัดสมาธิกับพื้นได้ ก็ไม่ต้องมีโอกาสได้นั่งกรรมฐานซิ ถึงพยายามนั่งก็จะไม่ได้แม้แต่ปฐมฌาน ทั้งนี้เพราะเสี้ยนหนามของปฐมฌานคือ นิวรณ์ ๕ ซึ่งได้แก่

 

๑.     ความพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส (กามฉันทะ)

๒.    ความผูกโกรธพยาบาท

๓.    ความง่วงเหงาหาวนอน

๔.    ความคิดฟุ้งซ่านและความรำคาญหงุดหงิดใจ

๕.    ความเคลือบแคลงสงสัยในการปฏิบัติ


                          ดังนั้น เมื่อเกิดความเมื่อยขึ้นมา ความหงุดหงิดรำคาญใจซึ่งเป็นหนึ่งในนิวรณ์๕ก็เกิดขึ้น และนิวรณ์๕นี้ หากเกิดขึ้นแม้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ปฐมฌานก็เกิดขึ้นไม่ได้แล้วนะเป็นยังไงเข้าใจหรือยัง? ”  หลวงพ่ออธิบาย

 

                          “เข้าใจแล้วครับ แบบนี้ค่อยยังชั่ว ผมจะพยายามเจริญภวนาพระกรรมฐานใหม่ ที่ผมท้อใจเพราะทนนั่งเจ็บตาตุ่มไม่ไหว ทรมานจริงๆครับ” ข้าพเจ้าตอบอย่างดีใจ

 

                          “แต่การเจริญกรรมฐานนั้น คุณจะต้องปฏิบัติทั้ง สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานด้วยนะ เพราะหากปฏิบัติแค่สมถกรรมฐานได้ก็จริง แม้จะบรรลุไปถึงจุดสุดยอดคือ ทรงฌาน๔ มีจิตเป็นเอกัคคตารมณ์ได้ก็จริง ก็ยังเป็นแค่โลกีย์อยู่นะ จิตบริสุทธิ์ก็จริง แต่ยังขาดปัญญา เขาเรียกว่า “โง่บริสุทธิ์”นะ จริงอยู่ถ้าเกิดตายไปขณะทรงฌานได้ ก็จะไปเกิดเป็นพรหมได้ แต่คุณจะอยู่ในฌานได้ตลอดเวลาหรือ ส่วนใหญ่มักอยู่นอกฌาน จริงไหม?

 

และเมื่อยู่นอกฌาน จิตซึ่งขาดปัญญาย่อมตกเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรมได้ เช่นปุถุชนคนธรรมดาทั่วๆไปเหมือนกัน และถ้าหากเกิดตายไปในขณะนั้นขึ้นมา แม้เคยทรงฌานได้ก็มีสิทธิ์ตกนรกได้นะ เขาเรียก “ตายนอกฌาน” ยังไงล่ะ และก็มีมาแล้วมากต่อมากด้วย เป็นที่น่าเสียดายยิ่ง ดังนั้นคุณจะต้องเอากำลังฌานของสมถกรรมฐานมาพิจารณาวิปัสสนากรรมฐานจนเกิดปัญญา รู้เท่าทันกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรมให้ได้ จึงจะล่วงข้ามทุกข์ เข้าสู่พระนิพพานได้ หากแม้ไม่ได้ในชาตินี้ โอกาสลงนรกของคุณก็จะไม่มีนะ

 

ถ้าคุณฝึกจิตเพียงแค่อยู่ในระดับ พระโสดาบัน ให้ได้เท่านั้น คุณก็หมดสิทธิ์ลงนรก แล้ว” หลวงพ่ออธิบายอย่างละเอียดด้วยความเมตตา เมื่อเห็นข้าพเจ้ายังตั้งใจฟังอยู่ ก็อธิบายต่อว่า

 

                          “การให้ทาน รักษาศีลนั้น เป็นเพียงแค่ป้องกันหรือกำจัดเขตมิให้กิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรมออกมาเพ่นพ่านนอกกรอบด้วยการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ความโลภ โกรธ หลง คือกิเลส หรือความทะเยอทยานอยากจะได้ อยากจะมี อยากจะเป็น คือ ตัณหา หรือการยึดมั่นถือมั่นว่า ไอ้นั่นของเรา ไอ้นี่ของเรา (อุปาทาน) ยังคงมีอยู่ในจิตนะ เสมือนจับเสือขังกรงไว้นั่นแหละ แม้มันจะไม่สามารถออกมาขบกัดทำร้ายใครก็ได้ แต่มันยังคงดูอยู่ใช่ไหม?

 

                          ส่วนการเจริญสมถกรรมฐาน นั้น ก็เพียงแค่ระงับกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรม ไว้ได้เพียงชั่วขณะทรงฌานเท่านั้น เมื่อออกนอกฌานตัวกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรม ก็กลับฟื้นขึ้นมาใหม่ได้อีก เปรียบเสมือนฉีดยาสลบให้เสือเท่านั้นเอง ถ้าหมดฤทธิ์ยาสลบเมื่อใดเสือก็ยังคงเป็นเสือที่ดุร้าย พร้อมที่จะขบทำร้ายผุ้คนอยู่เช่นเดิมนั่นแหละ

 

แต่ถ้าเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนเกิดปัญญารู้เท่าทันกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรมแล้ว ค่อยๆละค่อยๆตัด สังโยชน์ ๑๐ออกไปทีละข้อได้จนครบ ๑๐ข้อเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน แล้วนั่นแหละ ตัวกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรม ทั้งหลายจึงหมดฤทธิ์ เปรียบเสมือนหนึ่งคุณใช้มีดห้ำหั่นเสือจนตายไปนั่นแหละ เสือจึงสิ้นฤทธิ์ เข้าใจหรือยังล่ะ?” หลวงพ่ออธิบายอย่างละเอียด แล้วถามข้าพเจ้าอย่างเมตตา

 

                          “เข้าใจแล้วครับหลวงพ่อ ผมจะพยายามต่อไปครับ”ข้าพเจ้าตอบด้วยจิตใจที่อิ่มเอม และเบิกบานยิ่ง

 

                          แล้วท่านผู้อ่านที่รักล่ะ เข้าใจตามข้าพเจ้าแล้วหรือยัง?

 

คัดมาจากหนังสือของ พล.อ.ต. มนูญ ชมภูทีป

 

 

                              

Visitors: 356,845