อะพอลโล่ (Apollo) ไพ่The Sun

 

 

เทพเจ้าแห่งแสงสว่าง ดนตรี และกวีนิพนธ์

    เทพแห่งแสงสว่างอะพอลโล (Apollo) เป้นเทพเจ้าคู่แฝดกับอาร์ทีมิส (Arthamis) หรือ ไดอานา (Diana) เทพีแห่งแสงจันทราและการล่าสัตว์ ทั้งสองเป็นพระโอรสธิดาของมหาเทพซีอุสกับเทพธิดาลีโท (Leto)

    เทพบุตรอะพอลโลและเทพธิดาอาร์ทีมิสฝาแฝดผู้พี่เจริญวัยอย่างรวดเร็ว มหาเทพซีอุสประทานรถศึกเทียมด้วยหงส์สีขาวให้แก่พระโอรสอะพอลโล เช่นเดียวกับที่ทรงประทานจันทรยานเทียมม้าสีขาวปลอดดังสีน้ำนมให้แก่เทพธิดาอาร์ทีมิส

    ในภายหลังชาวกรีกและโรมันถือว่าเทพบุตรอะพอลโลเป็นเทพเจ้าแห่งแสงสว่างหรือดวงอาทิตย์เช่นเดียวกับที่ถือว่าเทพธิดาอาร์ทีมิสเป็นเทพีแห่งแสงจันทรา

    แต่ในชั้นเดิมก่อนหน้านี้ องค์สุริยเทพของกรีกมีอยู่แล้ว คือ เทพฮีลิโอส (Hellios) ซึ่งเป็นโอรสของ เทพไฮเพอเรียน (Hyperion) ในคณะเทพไททัน

    ภายหลังคณะเทพไททันสิ้นอำนาจจากการที่เทพโครนัสถูกชิงบัลลังก์  มหาเทพซีอุสครองวิมานโอลิมปัส  ชาวกรีกจึงถือว่าเทพบุตรอะพอลโลมาสืบทอดตำแหน่งองค์สุริยเทพแทน  แต่โดยทั่วไปถือเป็นเทพแห่งแสงสว่าง  และถือเทพฮีลิโอสเป็นพระอาทิตย์เช่นเดิม

    หน้าที่สำคัญของเทพอะพอลโลซึ่งปฏิบัติเป็นประจำทุกวันได้แก่การขับรถพระอาทิตย์จากฟากมหาสมุทรยามรุ่งอรุณโคจรไปตามสุริยวิถี  ผ่านฟากฟ้าไปโดยไม่จอดพักจนกว่าจะถึงเรือทองที่จอดคอยอยู่ ณ ขอบฟ้าทิศตะวันตกเพื่อใช้เดินทางกลับสู่วังที่ประทับที่อยู่ทางทิศตะวันออก 

เมื่อถึงเช้าวันใหม่ก็ทำหน้าที่หมุนเวียนเช่นนี้ตลอดไปชั่วนิจนิรันดร์ โดย เทพธิดาอีออส (Eos) หรือ ออโรรา (Aurora) เทพีผู้ครองแสงเงินแสงทอง หรือ อุษาเทวี มีหน้าที่เปิดทวารมุกดายามอรุณรุ่งให้รถอะพอลโลออกโคจร และพร้อมกันนั้นก็ไขแสงเงินแสงทองเป็นสัญลักษณ์   เปิดทางโคจรของเทพอะพอลโลด้วย  นอกจากนั้นในเวลาเช้ายังจุ่มนิ้วพระหัตถ์ลงในถ้วยน้ำค้าง  เพื่อโปรยปรายลงบนดอกไม้และต้นไม้

   

ตำนานดอกทานตะวัน

    ผู้ที่คอยเฝ้าดูการโคจรขอเทพบุตรอะพอลโลด้วยความหลงใหลใฝ่ฝันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันคือ นางอัปสรประจำน่านน้ำ นามว่า  ไคลที (Clytie) พระธิดาของเทพโอเชียนัสกับเทพธิดาทีทิส  นางจะผินหน้าตามดวงตะวันเริ่มโคจรจากตะวันออกถึงทิศตะวันตก  ด้วยหวังว่าสักวันหนึ่งเทพบุตรหนุ่มจะมีจิตปฏิพัทธ์เสน่าหาในตัวนางบ้าง  เหล่าเทพเจ้าทั้งหลายบังเกิดความสงสารจึงบันดาลให้นางกลายเป็นต้นทานตะวันชูดอกผินตามดวงอาทิตย์มาตราบถึงปัจจุบัน

 

เทพอะพอลโลประหารงูยักษ์ไพทอน

    ตามตำนานที่เล่ามาข้างต้น  พระนาเฮรามหเสีเอกของมหาเทพซีอุสได้สั่งให้งูยักษ์ไพทอนติดตามสังหารเทพธิดาลีโท  ครั้งเมื่อนางให้กำเนิดพระโอรสธิดาแฝดพระโอรสอะพอลโลซึ่งเป็นเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งเมื่อประสูติจากครรภ์พระมารดาก็สามารถสังหารงูยักษ์ไพทอนได้อย่างง่ายดาย  ด้วยเหตุนี้บางทีจึงเรียกนามของพระองค์ว่า ไพทูส (Pytheus) แปลว่า “ผู้สังหารไพทอน” และมีนามอื่นๆ เช่น ดีเลียน (Delian) เพราะเกิดที่เกาะดีลอส ฟีบัส (Phoebus) แปลว่า “โอภาส” หรือ “ส่องแสง” บางทีเรียกควบกันว่า “ฟีบัสอะพอลโล” ก็มี

    นอกจากนั้นเทพบุตรอะพอลโลยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพเจ้ากรีกที่รูปงาม พระองค์มีชายามากมาย  ต่างกับเทพธิดาอาร์ทีมิสที่เป็นเทพธิดาพรหมจารี  เทพอะพอลโลทรงเป็นนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ มีพิณเป็นเครื่องดนตรีประจำตัว และยังมีเทพผู้ขมังธนู เป็นเทพผู้ถ่ายทอดวิชาศิลปะให้แก่มนุษย์  เป็นเทพแห่งแสงสว่างอีกทั้งเป็นเทพแห่งสัจธรรมผู้ไม่เคยเอ่ยวาจาเท็จ

 

วิหารทำนายเดลฟี (Delphi)

    เนื่องจากเป็นเทพเจ้าที่ได้รับความเคารพนับถือมากจึงมีผู้สร้างวิหารอะพอลโลถวายขึ้นมากมายในประเทศกรีซ  วิหารที่สำคัญที่สุดมีชื่อว่า วิหารแห่งเมืองเดลฟี (Delphi) อยู่ที่เขา พาร์แนสซัส (Parnassus) มีรูปอนุสาวรีย์ขนาดยักษ์ที่ชื่อว่า โคลลอสซัส (Colossus) ตั้งอยู่บนเกาะโรดส์ (Rhodes) ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อครั้งที่พวกข้าศึกซึ่งยกมาล้อมเมืองอยู่เป็นเวลานานแต่ไม่อาจตีหักเข้าเมืองได้ ชาวเกาะโรดส์เชื่อว่าเพราะได้รับการคุ้มครองจากสุรียเทพ  จึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ขนาดความสูง 105 ฟุต (ไล่เลี่ยกับขนาดของเทพีสันติภาพในปัจจุบัน) ฉาบผิวด้วยทองบรอนซ์ ภายหลังเกิดแผ่นดินไหวรูปองค์เทพยุบลงไปแค่เข่า และต่อมาได้ถูกข้าศึกที่ยกมาโจมตีเมืองเลาะเอาทองบรอนซ์ไปขาย

 

    เรื่องราวของเทพเจ้าแห่งเสียงดนตรีที่น่าสนใจยังมีอีกสององค์คือ  ออร์ฟุส และแพน ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

    เทวลัยเดลฟีเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (มีอยู่ก่อนที่เทพอะพอลโลจะถือกำเนิด) ตั้งอยู่บนที่ลาดชันของเขาพาร์แนสซัส ซึ่งมีควันกำมะถันลอยพุ่งขึ้นมาจากรอยแยกของเชิงเขา  มีนักบวชหญิงทำหน้าที่เป็นร่างทรงพยากรณ์โดยถ่ายทอดคำทำนายจากเสียงกระซิบของแม่พระธรณีกีอา (Gaea) ต่อพวกพระที่ยืนล้อมรอบตัวนักบวชหญิง เป็นการบอกโชคชะตาแก่บรรดาผุ้ที่มาแสวงบุญในวิหารแห่งนี้  และครั้งหนึ่ง เฮอร์คิวลิส (Hercules) วีรบุรุษคนสำคัญของกรีกก็เคยมารับคำทำนายจากที่นี่เช่นกัน

 

มังกรดำไพทอน (Pyton)

    มหาเทพซีอุสมีเทวบัญชาให้พระโอรสอะพอลดลไปชิงเทวลัยแห่งเดลฟีมาครอง ณ ที่ใกล้เทวาลัยแห่งนี้มีบ่อน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมังกรดำไพทอน (Pyton) ได้เข้ามาครอบครอง  ทำให้บรรดานางไม้ผู้ดูแลบ่อน้ำพุต้องหนีไปที่อื่น มันเป็นมังกรชราที่โมโหร้าย  โดยเฉพาะเมื่อได้รับคำทำนายจากเทวาลัยเดลฟีว่า  ในวันหนึ่งข้างหน้าพระโอรสของเทพธิดาลีโท (Leto) ผู้ซึ่งไพทอนเคยพยายามจับกินจะมาสังงหารมัน (ตำนานข้างต้นเล่าว่าอะพอลโลได้สังหารไปแล้วเมื่อสมัยยังเป็นทารก  อาจจะเป็นอีกตัวหนึ่ง)

    เมื่อเผชิญหน้ากับเทอะพอลโล  ไพทอนรู้ว่าชะตาของมันถึงฆาตแล้ว  แต่ก็เรียกราคาชีวิตอย่างคุ้มค่า  ด้วยการพ่นไฟและพิษร้ายออกมาต้อสู้  เทพอะพอลโลต้องใช้ธนูเงินถึง 1000ดอก จึงสามารถเด็ดชีพของมันได้

    มื่อมังกรไพทอนถูกสังหาร  เหล่านางไม้ก็กลับมาอยู่ที่บ่อน้ำพุศักดิ์สิทธิ์เหมือนเดิม  เหล่านกน้อยส่งเสียงร้องเพลงกระโดดไปมาตามกิ่งอย่างมีความสุข

 

พระนางไนโอบี (Niobe)

ผู้สบประมาทเทพบุตรอะพอลโลและเทพธิดาอาร์ทีมิส

    ราชินีแห่งเมืองทีปส์ (Thebes) นามว่าไนโอบี  เป็นผู้มีสิริโฉมงดงามและมั่งคั่ง มหาเทพซีอุสทรงเป็นพระอัยกา (ปู่) ของพระนาง ครั้งหนึ่งมหาเทพได้ประทานพรให้ราชินีไนโอบีมีพระโอรสธิดาถึงสิบสี่พระองค์  ทำให้พระนางรู้สึกภาคภูมิใจยิ่งนัก

    แต่เมื่อประชาชนทั้งหลายพากันบูชาพระนางลีโทพระมารดาของสองพระโอรสธิดาแฝด คือ เทพธิดาอาร์ทีมิสและเทพบุตรอะพอลโล พระนางไนโอบีกลับรู้สึกอิจฉา เพราะพระนางลีโทมีพระโอรสธิดารวมแล้วเพียง 2 องค์เท่านั้น เทียบไม่ได้กับพระนางไนโอบีซึ่งในเวลานี้มีพระโอรสธิดาแล้วอย่างละ 7 องค์

    “ทำไมถึงไปบูชาพระนางลีโท  ประชาชนควรจะบูชาข้าซึ่งมีพระโอรสธิดาถึงสิบสี่องค์”

    คำกล่าวเชิงดูหมิ่นของพระนางไนโอบีทำให้สองโอรสธิดาฝาแฝดของพระนางลีโทกริ้ว  เทพอะพอลโลแผลงศรอันร้อนแรงไปถูกโอรสทั้ง 7 ของพระนางไนโอบีสิ้นพระชนม์  ส่วนเทพธิดาอาร์ทีมิสก็ได้แผลงศรอันเย็นเยือกไปสังหารพระธิดาทั้ง 7 ของพระนางไนโอบีเช่นกัน

    พระนางไนโอบีกันแสงโศกเศร้าด้วยความเสียพระทัยในความหยิ่งผยองของตนเอง  ทำให้พระโอรสธิดาต้องสิ้นพระชนม์โดยไม่มีความผิด  บรรดาเทพเจ้ารู้สึกสงสารจึงสาปให้นางเป็นหินไร้ความรู้สึก  แต่ภายในหินนั้นยังมีน้ำพุไหลออกมาเหมือนน้ำตาหยดลงบนหินนั้น  โดยปรากฏอยู่บนเขาไซปิลัส (Sipylus) ตราบเท่าทุกวันนี้  สำหรับตำนานนี้มีเล่าแตกต่างกันออกไปว่า 

เหตุที่โดรบวโทษสถานหนัก เพราะพระนางไนโอบีได้สั่งไม่ให้ชาวเมืองกระทำการบูชาเทพบุตรอะพอลโลและเทพธิดาอาร์ทีมิส  อีกทั้งให้ทำลายรูปเคารพของเทพเจ้าทั้งสอง  นอกจากนั้นยังกล่าวสบประมาทพระนางลีโทเป็นอันมาก  ส่วนเจ้ากรุงทีบส์นั้นได้ทำลายพระชนม์ชีพตามพระมเสีของพระองค์ไปด้วยเช่นกัน

 

โอเรียน (Orion) ยักษ์นายพรานผู้ยิ่งใหญ่

(ตำนานดาวแมงป่องประจำราศีพิจิก และกลุ่มดาวซิริอัส (ดาวสุนัข) -กลุ่มดาวนายพราน)

    ยักษ์โฮเรียนเป็นโอรสองค์หนึ่งของเจ้าสมุทรโพไซดอน เช่นเดียวกับโอทัสและอีฟิอัลทิสยักษ์นายพรานสองพี่น้อง  แต่โอเรียนเป็นยักษ์ที่สุภาพ  ถ่อมตนและเป็นนายพรานผู้ยิ่งใหญ่ แม้กระนั้นก็ยังให้ความเคารพยกย่องเทพธิดาอาร์ทีมิสหรือไดอานาเทพีแห่งแสงจันทราและการล่าสัตว์  แม้ว่าจะไม่มีสัตว์ตัวใดที่สามารถรอดพ้นจาก “กระบองดาบและดาบเพชร” อาวุธประจำตัวของนักษ์นายพรานโอเรียนไปได้ก็ตาม

    โอเรียนสามารถเดินบนน้ำได้ราวกับอยู่บนพื้นดิน  หรือบางตำนานว่าสามารถเดินลุยลงไปในทะเลลึกได้  แสดงว่ามีร่างกายใหญ่โตมาก  วันหนึ่งเมื่อยักษ์นายพรานโอเรียนเดินลุยทะเลมาจนถึงเกาะไคออส (Chios) พระราชาของเกาะแห่งนี้ซึ่งกำลังรู้สึกรำคาญกับเสียงเห่ารำคาญของบรรดาสิงโต  สุนัขป่าและหมูป่าจนไม่ค่อยได้บรรทม  พระองค์จึงสัญญาว่า หากโอเรียนสามารถสังหารสัตว์เหล่านี้ได้ยกพระธิดาให้

    พระธิดาของพระราชาแห่งเกาะไคออสทรงมีพระสิริโฉมงดงาม  ยักษ์นายพรานโอเรียนจึงรับบัญชาในทันที  ภายในเวลาไม่นานนักทั่วเกาะก็ไม่มีสัตว์ป่าหลงเหลือเลย  แต่พระราชาไม่ปรารถนาจะยกพระธิดาให้ยักษ์นายพรานโอเรียน จึงอ้างว่าพระองค์ยังคงได้ยินเสียงสุนัขป่าเห่าหอนอยู่ทุกคืน

    โอเรียนโกรธที่พระราชาไม่รักษาสัญญา  ขู่จะพาพระธิดาหนีไป  พระราชาแสร้งปลอบโยนด้วยคำหวานและมอมเหล้าจนยักษ์นายพรานเมาฟุบ  ก่อนที่จะควักดวงตาของโอเรียนออกทั้งสองข้าง  แล้วนำไปทิ้งไว้ริมทะเล  โอเรียนช่วยเหลือตนเองโดยฟังเสียงค้อนพวกยักษ์ตาเดียวไซคลอปส์  ซึ่งเป็นผู้ช่วยทำงานอยู่ในโรงงานเทพวิศวกรรมเฮเฟสทัส  พยายามเดินตามเสียงค้อนไปจนถึงโรงงาน ณ เกาะเลมนอส (Lemnos)  เทพเฮเฟสทัสสงสารโอเรียน  จึงให้อสุรกายตาเดียวไซคลอปส์ตนหนึ่งขี่คอโอเรียนบอกทางให้เดินทางไปทิศตะวันออก  เพื่อให้รังสีของดวงอาทิตย์ช่วยรักษาดวงตาจนสามารถมองเห็นได้ดังเดิม

    โอเรียนกลับมาที่เกาะไคออสหมายจะแก้แค้น  แต่พระราชาได้พาพระธิดาหนีไปด้วยความหวาดกลัว  อยู่ต่อมาไม่นานโอเรียนก็ลืมเรื่องราวทั้งหมด  คงออกท่องเที่ยวล่าสัตว์ต่อไปจนพบเทพธิดาอาร์ทีมิสที่เกาะครีต  เนื่องจากยักษ์นายพรานโอเรียนมีฝีมือทางการล่าสัตว์และไม่โอ้อวดตนเอง ในที่สุดก็กลายเป็นพระสหายที่เทพธิดาอาร์ทีมิสโปรดปราน  ทั้งสองร่วมกันออกล่าสัตว์ท่องเที่ยวกันอย่างสนุกสนาน

    เหตุการณ์ทั้งหมดอยู่ในสายตาของเทพอะพอลโล  พระองค์ไม่พอพระทัยที่พระภคินีอาร์ทีมิสสนิทสนมกับยักษ์นายพรานหนุ่มจึงสั่งให้แมงป่องยักษ์ไปสังหารโอเรียน  แม้จะมีกระบองกับดาบเพชรที่ทรงอานุภาพแต่คราวนี้โอเรียนไม่อาจใช้มันสยบแมงป่องของเทพเจ้าอย่างอะพอลโลได้

    เทพธิดาอาร์ทีมิสไม่พอพระทัยพระอนุชาที่สังหารพระสหายของพระองค์  เทพอะพอลโลจึงบันดาลให้โอเรียนกลายเป็นกลุ่มดาวนายพรานบนฟากฟ้า  อันเป็นกลุ่มดาวที่ส่งแสงสุกใสเหนือทะเลในฤดูหนาวที่มีพายุจัด  เป็นกลุ่มดาวขนาดใหญ่ แต่เมื่อถึงฤดูร้อนเมื่อกลุ่มดาวแมงป่องโผล่ขึ้นขอบฟ้า  ดาวนายพรานโอเรียนจะจางแสงไปและหนีหายกลับไปในมหาสมุทร  ตำนานในตอนนี้คงเป็นการแต่งเพื่ออธิบายปรากฏการณ์บนท้องฟ้าเกี่ยวกับดาวนายพรานและดาวแมงป่องนั่นเอง

     แต่ยังมีอีกตำนานหนึ่งเล่าต่างไปว่าวันหนึ่งเทพอะพอลโลเห็นโอเรียนเดินลุยทะเลโผล่หัวเหนือผิวน้ำ  มองไกลๆเห็นเหป็นจุดดำๆจึงแกล้งท้าพระธิดาอาร์ทีมิสยิ่งไปที่นั่นเพื่อทดสอบฝีมือ  เมื่อรู้ความจริงในภายหลังเทพีแห่งการล่าสัตว์ได้บันดาลให้โอเรียนพร้อมด้วยสายรัดเอว ดาบและกระบองคู่มือกลายเป็นกลุ่มดาวนายพรานบนฟากฟ้า และสุนัขของโอเรียนนั้นก็ได้กลายเป็นกลุ่มดาวซิริอัส (Sirius) อยู่ท้ายกลุ่มดาวนายพราน

 

แหล่งอ้างอิง

ธนากิต.  (2546).  ตำนานเทพเจ้าและวีรบุรุษกรีก-โรมัน.  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ปิรามิด.  

Credit Photo : camphalfblood.wikia.com

Credit Photo : www.shmoop.com

Visitors: 355,914