อานิสงส์การทอดกฐินและการทอดผ้าป่า

 

ผู้ถาม : “การทอดผ้าป่า บางแห่งเขามีชะนีกับพุ่มไม้ แต่ที่วัดท่าซุงนี่ไม่เห็นมีอะไรเลย อานิสงส์จะสู้มีชะนีได้หรือเปล่าคะ...?”

 

หลวงพ่อ : “สู้ไม่ได้หรอก เพราะไม่มีร้อง “ผัวโว้ยๆๆ” คือว่าผ้าป่านี่นะ เดิมทีเดียวพระพุทธเจ้าท่านแนะนำให้ถวายสังฆทานท่านบอกว่าถวายของไม่เจาะจงรูปหนึ่งรูปใด มีอานิสงส์มากเป็นสังฆทาน ทีนี้ต่อมาญาติโยมมีน้อย พระมาก แกจะประเคนองค์ใดองค์หนึ่งก็เกรงใจองค์อื่น เลยเอาแบบนี้ก็แล้วกันเราไม่เจาะจงพระเอาไปแขวนตามต้นไม้ใกล้กุฏิหรือป่าช้า ถ้าพระองค์ไหนมาพบ ชักเอาไปก็ถือว่าเป็นสงัฆทาน เขาถือตามรูปนี้นะ

 

                     ต่อมาญาติโยมอยู่ไกลป่า เลยตัดกิ่งไม้มา ชะนีก็ชะนีปลอม คือไม่มีความจำเป็นนะ ถวายผ้าป่าก็คือการถวายสังฆทานนั่นเอง ก็ทำมันตรงไปตรงมาก็หมดเรื่อง”

 

ผู้ถาม : “ที่วัดท่าซุง ชอบใจอยู่อย่างครับ คือไปถึงก็ถวายได้เลย ไม่ต้องไปว่า อิมานิ อิมาแนะ สู้สะดวกนิของหลวงพ่อไม่ได้”

 

หลวงพ่อ : “จะไปว่าอะไร เขาตั้งใจมาตั้งแต่บ้านแล้ว ที่นำน่ะหมายถึงหลายๆคนด้วยกัน ต้องว่านำ ดีไม่ดีหัวหน้าว่ามากเกินไป รำคาญ บุญหล่นอีก อันที่จริงพระท่านก็ทราบแล้วว่าเป็นสังฆทาน ผู้รับองค์เดียวไม่มีสิทธิ์ใช้แต่ผู้เดียว”

 

ผู้ถาม : “ปัจจุบันโรงเรียนหลายแห่งมักจะหาเงินเข้าโรงเรียนโดยการทอดผ้าป่า ผ้าไตรจีวรเสร็จ แล้วก็แบ่งถวายพระเล็กน้อย ส่วนใหญ่ก็เข้าโรงเรียน ลูกมีความไม่สบายใจ เกรงว่าบุญอันนี้จะไม่สมบูรณ์แบบ เกรงว่าจะเป็นของสงฆ์ไปด้วย ลักษณะอย่างนี้อยากเรียนถามหลวงพ่อว่า ได้บุญมากกว่าหรือบาปมากกว่าเจ้าคะ....?”

 

หลวงพ่อ: “ความจริงถ้าบอกเขาตรงๆว่าจะไปช่วยโรงเรียนนะ แล้วก็บอกว่าส่วนหนึ่งก็จะถวายพระ ถ้าทำตามนั้นอานิสงส์สมบูรณ์แบบ พูดตรงไปตรงมานะ โกงไปโกงมาไม่ได้หมายความว่าส่วนใดถวายพระ นั่นเป็นสังฆทานแท้ ส่วนใดที่ให้โรงเรียนก็เป็นทานบารมีไป เป็นทานส่วนบุคคลนะ อานิสงส์ต่ำหน่อย”

 

ผู้ถาม : “เมื่อปี พ.ศ. 2527 กระผมเป็นหัวหน้าจัดทอดผ้าป่าหลายครั้ง ได้เงินเป็นจำนวนมาก แต่เวลาเดินทางไปผมก็ซื้อขนมเลี้ยงกันในรถ เลี้ยงเหล้าเลี้ยงอาหารกันก็หลายครั้ง ตอนนี้ผมหูตาสว่างเมื่อได้พบหลวงพ่อ จึงอยากจะชดใช้เวรกรรมที่กระทำไว้ จึงขอปรึกษาหลวงพ่อ เราควรจะเพิ่มดอกเบี้ยเท่าใด พระยายมจึงจะอโหสิครับ..?”

 

หลวงพ่อ : “เอ...เดี๋ยวๆขอคิดค่าติดต่อ ได้ตังค์แล้วตอนนี้ (หัวเราะ) มิน่าเล่าตอนนั่งสมาธิท่านลุง (พระยายม) ถึงได้ขึ้นมาถาม “มีเรื่องอะไรลุง” บอก “วันนี้มีธุระ” อันนี้จริงๆนะ”

 

ผู้ถาม : “แสดงว่าท่านรู้เรื่องหน้าหรอครับ..?”

 

หลวงพ่อ : “ใช่ ท่านรูว่าฉันจะได้สตางค์ เอายังงี้ก็แล้วกันนะ ประเดี๋ยวก่อน คนที่ไปกินด้วยกันคือพวกเดียวกันหรือเปล่า พวกออกสตางค์หรือเปล่า ต้องดูก่อนนะ ถ้าเงินที่อื่น คนอื่นด้วย ก็ควรชำระหนี้สงฆ์ไป

 

                   ถ้าหากว่าคนที่ไปเป็นคณะ เราเรี่ยไรเฉพาะคนในคณะนั้นนะแล้วไปด้วยกันไปซื้อมาแบ่งกันกิน อันนี้ไม่เป็นไรต่างคนต่างกิน ลงก็ลงด้วยกัน แต่คงไม่ลง คือว้าเรี่ยไรเฉพาะคนนั้น เขาทราบอยู่ อันนี้ไม่เป็นไร ถ้าเอาเงินจากคนอื่นไปด้วย อันนี้ควรจะชำระหนี้สงฆ์”

ผู้ถาม: “ต้องเป็นวัดที่เราเคยไปทอดใช่ไหมครับ..?”

 

หลวงพ่อ : “วัดไหนก็ได้ เข้าเขตสงฆ์ก็แล้วกัน ใครทำบ่อยก็จัดการแก้ไขเสีย”

 

ผู้ถาม : “หลวงพ่อคะ การทอดผ้าป่า กับ การทอดกฐิน อย่างไหนได้อานิสงส์มากน้อยกว่ากันคะ...?”

 

หลวงพ่อ : “ความจริง ผ้าป่ากับ กฐิน เป็นสังฆทานด้วยกันทั้งคู่นะ แต่ถ้าว่าอานิสงส์โดยเฉพาะ กฐินได้มากกว่า เพราะว่ากฐินมีเวลาจำกัด จะทอดตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 กึงกลางเดือน 12 แต่อานิสงส์ได้ทั้งสองฝ่าย คือผู้ทอดก็ได้ พระผู้รับก็ได้ พระผู้รับมีอำนาจคุ้มครองพระวินัยได้หลายสิกขาบท ทำให้สบายขึ้น

 

                   ต้นเหตุแห่งการทอดกฐินนี้ ก็มี นางวิสาขา เป็นคนแรกในสมัยนั้นพระพุทธเจ้าท่านทรงบัญญัติการจำพรรษา เพื่อป้องกันพระไปเดินเหยียบต้นพืชต้นข้าวที่ชาวบ้านเขาปลูกไว้ในฤดูฝนไม่ให้เสียหาย

 

                    ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว ภิกษุชาวปาฐา 30 รูป เดินทางไปเฝ้านพระพุทธเจ้า ในเวลานั้นพระสงฆ์ทั้งหลายมีผ้าจำกัดเพียง 3 ผืนท่านั้น เมื่อมาถึงในขณะที่นางวิสาขาเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่พอดี เห็นพระมีผ้าสบงจีวรเปียกโชกด้วยน้ำฝนและน้ำค้าง จึงได้กราบทูลขอพรแด่พระพุทธเจ้าว่า “หลังจากออกพรราแล้ว ขอบรรดาประชาชนทั้งหลายมีโอกาสถวายผ้าไตรจีวรแก่คณะสงฆ์ด้วยเถิด” พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุมัติ

                  

 

ส่วนผ้าป่าก็เป็นสังฆทาน แต่อานิสงส์จะน้อยไปนิดหนึ่ง แต่ทั้งสองอย่างก็เป็น สังฆทานเหมือนกัน แต่เป็นสังฆทานเฉพาะกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าป่า ผู้ให้ก็ได้อานิสงส์ ผู้รับก็มีอานิสงส์แต่เพียงแค่ใช้ เป็นอันว่าทั้งสองอย่างนี้ถือว่าอานิสงส์การทอดกฐินมากกว่าผ้าป่า แต่ว่าการทอดกฐินปีหนึ่งครั้งเดียว ผ้าป่าทอดได้ตั้งหลายครั้ง อานิสงส์ผ้าป่าย่อมได้มากกว่านะ”

 

ผู้ถาม : “แล้วองค์กฐินที่แท้จริงเป็นอย่างไรคะ..?”

 

หลวงพ่อ : “องค์กฐินจริงๆ คือ ผ้าไตร นอกนั้นเป็นบริวาร เวลากรานกฐินจริงๆ เรากรานกันแต่ผ้า การถวายก็ไม่ยาก เรามีผ้าจีวรผืนหนึ่งหรือว่าสบงผืนหนึ่ง หรือว่าสังฆาฏิผืนหนึ่ง อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เขาเรียกว่า จุลกฐิน หรือจะถวายทั้งไตรก็ได้ เขาเรียกว่า ปกติกฐิน แต่ถ้าถวายไตรจีวรครบทั้งวัด เรียกว่า มหากฐิน

 

                      

ฉะนั้นจะถวายมาก็ได้ ถวายน้อยก็ได้ อานิสงส์เท่ากัน โดยเฉพาะวัดท่าซุง จัดเป็นกฐินสามัคคี เป็นเจ้าภาพร่วมกันทุกคน ได้อานิสงส์เท่ากันหมด

                      

สำหรับการทอดกฐินครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านเคยเทศน์คือว่าพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระปทุมุตตระ ท่านเคยเทศน์วาระหนึ่ง สมัยที่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันเป็น มหาทุคคตะ

 

คำว่า มหาทุคคตะ นี้จนมาก เป็นทาสของคหบดี ได้ไปฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้าว่า อานิสงส์กฐินนี้มีมาก ท่านจึงกลับไปชวนนาย แต่นายก็มอบหมายทรัพย์สมบัติให้ท่านผู้จัดการทุกอย่าง  ท่านมหาทุคคตะอยากมีส่วนร่วมทานนี้ด้วยแต่ไม่มีอะไรมีแต่เสื้อผ้าเก่าๆ ของตน ที่มีติดตัวอยู่เพียงชุดเดียวจึงนำไปแลกที่ร้านในตลาด มีด้าย 1 กลุ่ม เข็ม 1 เล่ม เอามาร่วมในการทอดกฐินกับเจ้านาย เพื่อปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล

                            

พระองค์ทรงตรัสว่า คนถวายกฐิน หรือร่วมในการถวายกฐินทานครั้งหนึ่ง จะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ จะปรารถนาเป็นพระอัครสาวกก็ได้ จะปรารถนาเป็นพระอรหันต์ก็ได้

                           

แต่ถ้าหากว่ายังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใดอานิสงส์จะให้ผลทานแก่ผู้นั้น เมื่อตายจากความเป็นคนไปเกิดเป็นเทวดาแล้วก็จะลงมาเป็น พระเจ้าจักรพรรดิ ปกครองโลก 500ชาติ

                            

บุญน้อยลงมาจะเป็นพระมหากษัตริย์ 500 ชาติ เป็นมหาเศรษฐี 500 ชาติ เป็นอนุเศรษฐี 500 ชาติ เป็นคหบดี 500 ชาติ

                            

แต่คนที่ทอดผ้ากฐิน หรือว่าร่วมในการทอดผ้ากฐินครั้งหนึ่งก็ดี บุญบารมีส่วนนี้ยังไม่ทันจะหมดก็ปรากฏว่า ท่านเจ้าของทานนิพพานไปก่อน”

 

 

คัดมาจากหนังสือหลวงพ่อตอบปัญหาธรรมเล่ม1


ภาพประกอบหัวเรื่องจากบอร์ดเวปพลังจิต

Visitors: 355,918