ปัญญาคืออะไรกันแน่?

 

                         เมื่อข้าพเจ้าได้พิจารณาทบทวนถึงปัญหาที่ข้าพเจ้าถาม และหลวงพ่อได้เมตตาอธิบายตอบมาแล้วโดยละเอียดหลายๆเรื่องก็เกิดความสงนสนเท่ห์ในคำๆหนึ่ง คือ คำว่า “ปัญญา” เข้า อาทิเช่นหลวงพ่อพูดว่า “จิตยังไม่มีปัญญาเพียงพอ” หรืออธิบายว่า “เมื่อทรงฌานได้ก็เอากำลังของฌานไปพิจารณาวิปัสสนาญาณได้โดยง่าย และในที่สุดปัญญาก็จะเกิด และในที่สุดปัญญาก็จะเกิด เมื่อปัญญาเกิดก็นำปัญญานั้นแหละไปห้ำหั่นกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรมได้” เป็นต้น

 

                           ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในคำว่า “ปัญญา” ขึ้นมา ปัญญาจะเกิดขึ้นมาได้ต่อเมื่อทรงฌานได้เท่านั้นหรือ?  ก็แล้วที่ข้าพเจ้าจำแม่น เรียนหนังสือเก่งล่ะ ไม่ใช่เพราะด้วยข้าพเจ้ามีปัญญาดีหรอกหรือ?  หรือที่คนอื่นๆ เขาได้ปริญญาโท ปริญญาเอก นั่นเล่าไม่ใช่เพราะเขามีปัญญาดีหรอกหรือ ก็ไม่เห็นว่าจะต้องทรงฌานให้ได้ แล้วไปนั่งพิจารณาวิปัสสนาญาณสักหน่อยนี่

 

                            เมื่อเกิดความสงสัยขึ้นเช่นนี้ ในวันหนึ่งข้าพเจ้าจึงได้หาโอกาสถามหลวงพ่อว่า

 

                           “หลวงพ่อครับ  การที่ผมดูหนังสือเรียนเที่ยวเดียวแล้วจำได้โดยไม่ต้องท่องแล้วท่องอีกเหมือนคนอื่นเขา จะเรียกว่า ผมมีปัญญาดีไหมครับ?”

                              “ไม่ใช่ปัญญาดีหรอก เขาเรียกว่า ความจำดี ต่างหากเล่า” หลวงพ่อตอบเรื่อยๆ

 

                            “แล้วคนเรียนเก่งๆที่เขาไปทำปริญญาโท ปริญญาเอก ได้เล่าครับจะยกย่องว่า เขามีปัญญาดีไหมครับ ?” ข้าพเจ้าถามอย่างไม่ลดละ

                              “ไม่ใช่ปัญญาดีอีกนั่นแหละ แต่เขามีความจำดีอย่างคุณนั่นแหละ”หลวงพ่อตอบยิ้มๆ

 

                              “อ้าว!..หลวงพ่อ ความจำดีก็ต้องมีปัญญาดีไม่ใช่หรือครับ” ข้าพเจ้ารีบถาม

 

                               “ความจำดีก็เพราะสมองดี สมองดีก็คือเครื่องบันทึกความจำดี เหมือนเช่นเครื่องบันทึกเสียงดีหรือเครื่องบันทึกความจำดีของคอมพิวเตอร์ดีนั่นแหละ บันทึกไว้ หากต้องการใช้ก็นึกย้อนเอา รีไวด์เอา หรือกดข้อมูลต่างๆที่บันทึกไว้ก็จะออกมานั่นเอง เขาไม่เรียกว่าปัญญาดีนะ เขาเรียกว่าสัญญาดีต่างหากเล่าคุณ” หลวงพ่ออธิบาย

 

                               “เอ!...เท่าที่ผมจำได้ผมก็ไม่เคยไปให้สัญญากับใครที่ไหนนะครับ” ข้าพเจ้าชักงง

 

                               “สัญญา น่ะเขาแปลว่า ความจำได้ อย่างงไปเลย คุณมีความจำดีก็เพราะสัญญาดี คุณหรือใครก็ตามเรียนหนังสือเก่ง ก็เพราะจำคำสั่งสอนของครูบาอาจาร์ยและผู้รู้ได้ดีกว่าคนอื่น และเพราะความจำดีนี้เองทำให้มีโอกาสค้นคว้า อ่านตำรับตำราได้มากกว่าคนอื่นและจำได้แม่นยำกว่าคนอื่น ดังนั้นเมื่อสอบทีไร ใครเขาจะไปสู้คนที่มีความจำดีได้เล่าคุณ แต่อย่าลืมนะถ้าครูเขาสอนผิด ถ้าตรับตำราผิด คุณก็จำผิด เหมือนเครื่องบันทึกเสียงหรือเครื่องคอมพิวเตอร์นั่นแหละ หากป้อนข้อมูลผิดเข้าไปล่ะก็เสร็จเลย มันก็ต้องบันทึกผิดจำผิดด้วยจริงไหม?  คุณเคยจำคำในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงได้ไหม ?” หลวงพ่ออธิบายแล้วย้อนถาม

 

                               “ที่ว่าในน้ำมีปลา ในนามีข้าวใช่ไหมครับหลวงพ่อ ?” ข้าพเจ้าถาม

 

                               “เออ!...นั่นแหละ คุณว่าเดี๋ยวนี้มันยังคงเป็นความจริงอยู่ทั้งหมดไหม?” หลวงพ่อถาม ทำให้ข้าพเจ้านิ่งคิดอยู่สักครู่ จึงตอบว่า

                               “ในสมัยตอนผมยังเด็กๆ เป็นความจริงครับหลวงพ่อ ในน้ำมีทั้งกุ้ง หอย ปุ ปลามากมาย และทุ่งนาในกรุงเทพฯทั้งแทบพระโขนง สะพานควาย บางเขน เขียวชอุ่มไปด้วยข้าวทั้งนั้น แต่ตอนนี้น่าเสียดายจริงๆครับ ผมยังแอบเปลี่ยนข้อความใหม่เสียเลยว่า “ในน้ำมีไร(ตัวไรเพราะน้ำเน่า) ในไร่มีรา (เชื้อรา) ในนามีบ้านจัดสรร” 

 

                                “แล้วข้อความท่อนอื่นๆ ในหลักศิลาจารึกล่ะว่าอย่างไร?” หลวงพ่อถามต่อ

 

                                “ครับ ผมพอจำได้อยู่บ้างว่า ใครใคร่ช้างค้า ค้าม้าค้า ค้าวัวค้า ค้าควายค้า อะไรทำนองนี้แหละครับ แล้วก็มีว่า ไพร่ฟ้าหน้าใส ครับ” ข้าพเจ้าตอบ

                                “เอาละ จำได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น แล้วคุณว่าเดี๋ยวนี้เป็นเช่นนั้นหรือไม่?” หลวงพ่อถามยิ้มๆ

 

                                “เดี๋ยวนี้หรือครับ จะเปิดเขียงขายหมูในตลาดสักเขียงยังวุ่นวาย จะหาบอะไรไปขายสักหาบก็หาที่วางขายไม่ได้แล้วครับ ต้องขายเป็นที่เป็นทาง ถูกรีดไถทั้งตำรวจ ทั้งเจ้าหน้าที่สรรพากร ยิ่งไพร่ฟ้าในกรุงเทพฯเจอมลภาวะที่เป็นพิษและการจราจรติดขัดแล้วด้วย หาหน้าใสไม่มีหรอกครับ ทุกวันนี้มีแต่ไพร่ฟ้าหน้าเหลืองซีดเสียส่วนใหญ่ครับ” ข้าพเจ้าตอบตามความเป็นจริง

 

                                “แล้วสุภาษิตโบราณที่ว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยงล่ะ” คุณว่าเดี๋ยวนี้เป็นจริงไหม?”หลวงพ่อถามต่อ

 

                                 “ไม่จริงแล้วครับ ผมเห็นสิบพระยาเดินตามดูพ่อค้า นักธุรกิจออกบ่อยไป” ข้าพเจ้าตอบอย่างขัดใจ

 

                                  “เออ!...แล้วที่ว่า ไม่มีขยะมูลฝอยหมาไม่ขี้ล่ะ?” หลวงพ่อถามอย่างสนุก

 

                                  “ก็ไม่จริงอีกแหละครับ เพราะหมาบ้านผมมันไปคุ้ยกองขยะเล่นจริงแต่มันไม่ขี้ เพราะมันกลัวขยะแขยงกัน เห็นกลับมาขี้ที่สนามหญ้าหน้าบ้านบ้าง ถนนในบ้านบ้าง ผมต้องโกยทิ้งทุกวันเลยครับ” ข้าพเจ้าตอบตามความเป็นจริง

 

                                  “เห็นไหม แม้แต่หลักศิลาจารึกก็ดี สุภาษิตโบราณต่างๆก็ดี อาจถูกต้องเป็นจริงได้เฉพาะในสมัยหนึ่ง ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นเอง หาได้เป็นความจริงตลอดกาลไม่ แม้แต่วิชาคำนวณเรียน เคยจำได้มิใช่หรือว่า ๑+๑ เป็น๒  ๐+๐เป็น๐  แล้วเดี๋ยวนี้ภาษาคอมพิวเตอร์เขาว่า๐+๐เป็น๑ แต่๑+๑เป็น๐ มิใช่หรือ?” หลวงพ่ออธิบายแล้วถามยิ้มๆ เล่นเอาข้าพเจ้านั่งตัวแข็งด้วยเป็นความจริงตามที่หลวงพ่อพูดทุกอย่าง “ดังนั้นแม้คุณฟังมาก ดูตำรับตำรามาก เรียนมาก ค้นคว้ามาก จนมีความรู้มาก เพราะความจำดี มีสัญญาดีเพียงไรก็ตาม ความรู้ที่คุณได้มานั้นก็หาได้เป็นความจริงตลอดกาลไม่ อาจผิดหรือถูกก็ได้ ดังนั้นจึงจะยังเรียกว่า มีปัญญา ไม่ได้นะ” หลวงพ่ออธิบายต่อ

 

                                  “ถ้าอย่างนั้นปัญญาคืออะไรกันแน่ครับ หลวงพ่อ?” ข้าพเจ้ารีบถามด้วยความข้องใจ

 

                                  “ปัญญา โดยความหมายทั่วๆไปแล้ว แปลว่าความรู้ที่เกิดขึ้นจากการพินิจพิจารณา  หรือจะแปลว่าความเฉลียวฉลาดก็ได้นะ มิใช่รู้อย่างเดียว ต้องนำเอาความรู้ที่ได้นั้นมาพิจารณาด้วย หรือมิใช่ฉลาดอย่างเดียวต้องมีเฉลียวใจด้วย จึงจะเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงถึงแก่นแท้ของการรู้ในแต่ละอย่างได้นั่นแหละ จึงจะเรียกว่า “ปัญญา”ล่ะ”

 

                                  ตัวอย่างเช่น หากคุณเห็นรถยนต์สวยคันหนึ่งแล่นผ่านมา คุณก็อาจจะบอกได้ทันทีว่าเป็นรถเบนซ์ รถวอลโว่ รุ่นใด กี่ซีซี. มีสมรรถนะอย่างไร ราคางวดเท่าไร สร้างจากประเทศไหน บริษัทอะไร เพราะคุณฟังเขามาบ้าง จึงจำได้ด้วยสัญญาดี แต่ด้วยเพราะไม่มีปัญญา จึงทำให้จิตใจของคุณมีความหวั่นไหว กินไม่ได้นอนไม่หลับ เนื่องจากความอยากได้ในรถคันที่คุณเห็นขึ้นมา

 

แต่ถ้าคุณมีความเฉลียวใจ หรือได้มาพินิจพิจารณาให้รู้แจ้งแทงตลอดแล้ว คุณก็จะเกิดความรู้ใหม่ขึ้นมาว่า รถสวยรุ่นใหม่คันนี้ต่อไปอีก๓ปีข้างหน้า  ก็จะกลายเป็นรุ่นเก่า ไม่ทันสมัยอีกต่อไป สีที่สวยงามหากกะเทาะออกก็คงจะดูไม่ได้ เบาะอ่อนนุ่มที่สวยเก๋นั้น หากลอกออกดูภายในก็คงมีสภาพเช่นเดียวกับเบาะนั่งของรถอื่น และถ้าคุณจะซื้อรถคันนี้ให้ได้ ก็จะต้องเดือดร้อนในการวิ่งเต้นหาเงินทองมา และแม้เมื่อหาเงินได้แล้ว คุณจะรับภาระหนี้สินไหวไหม 

 

                                 นอกจากนั้น เมื่อคุณได้รถมาขับขี่ ก็คงจะไม่สบายใจนักด้วยเกรงว่าจะถูกรถอื่นชน หรือเฉี่ยวเอา ยิ่งในตรอกในซอยที่เต็มไปด้วยหลุมด้วยบ่อและฝุ่นเดินหนาทึบแล้ว ก็ยิ่งหนักใจใหญ่  และแม้เอารถให้เด็กล้าง ก็คงจะต้องไปควบคุมแจ ยิ่งต้องเอารถไปจอดในย่านชุมชน หรือตรอกซอยแคบๆหรือที่เปลี่ยวๆ ก็คงจะต้องนั่งเฝ้ารถคันใหม่ด้วยความเป็นห่วง หากได้พิจารณาโดยละเอียดเช่นนี้แล้ว ก็จะเห็นความทุกข์ในรูปแบบต่างๆที่ ความอยากได้ใคร่ดีในรถเบนซ์รูปงามคันนี้ก็ย่อมหมดไป นี่แหละคือ “ปัญญา”ล่ะ

 

หลวงพ่ออธิบายและเมื่อเห็นข้าพเจ้ายังตั้งใจฟังก็พูดต่อว่า “และถ้าจะให้เห็นชัดก็ต้องยืนยันว่า “ปัญญา”ได้แก่การเจริญวิปัสสนาญาณจนรู้แจ้งเห็นจริงตามกฎธรรมดา  ไม่มีอารมณ์ที่คิดจะฝืนกฎธรรมดาเหล่านั้น จนในที่สุดจะได้ญาณทั้ง ๘ คือจุตูปปาตญาณ – รู้ว่าคนและสัตว์ตายแล้วไปเกิดที่ใด อีกทั้งรู้ว่าคนและสัตว์เกิดมาจากไหน

 

  1.               เจโตปริยญาณ- รู้อารมณ์จิตของคนและสัตว์
  2.               ปุพเพนิวาสานุสติญาณ- ระลึกชาติในกาลก่อนได้ไม่จำกัด
  3.               อตีตังสญาณ – รู้เห็นเหตุการณ์ในอดีตของคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ได้โดยไม่จำกัดกาลเวลา
  4.               อนาคาตังสญาณ – รู้เหตุการณ์ต่อไปใจอนาคตของคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ได้โดยไม่จำกัดกาลเวลา
  5.               ปัจจุปปันนังสญาณ -รู้เหตุปัจจุบันของคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ได้ตามความเป็นจริง
  6.               ยถากัมมุตาญาณ – รู้ผลกรรมของคน สัตว์ได้ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน
  7.               ทิพยจักษุญาณ – มีความรู้ปรากฏแก่จิตเหมือนตาเห็น สามารถเห็นผี เทวดา

                               ญาณทั้ง ๘นี้อย่าไปหนักใจนะว่าจะทำไม่ได้ เมื่อใดที่ผู้ปฏิบัติสามารถทรงฌาน ๔ ได้คล่องแคล่วแล้วถอยลงไปสู่อุปาจารสมิหรือฌาน ๑ ฌาน๒ เพื่อพิจารณาวิปัสสนาญาณด้วยแล้ว นอกจากท่านจะได้ญาณทั้ง๘แล้ว ท่านยังมีปัญญาแตกฉานในการอธิบายถ้อยคำหัวข้อธรรม และสามารถแก้อรรถปัญหาต่างๆได้อย่างอัศจรรย์ นอกจากนั้นยังรอบรู้และเข้าใจภาษาอย่างอัศจรรย์อีกด้วย (ไม่ว่าจะเป็นภาษาของพรหม เทพ มนุษย์ สัตว์ อุสรกาย) เป็นยังไงคุณมนูญ แบบนี้ยังจะมีนักภาษาศาสตร์คนใดในโลกสู้ท่านได้จริงไหม? นี่ซิเขาจึงเรียกว่ามี “มีปัญญา” จริงใช่ไหมล่ะ”

 

                                “เพียงแค่ได้ญาณหนึ่งใน๘ ญาณที่หลวงพ่อว่า ก็นับว่ามีปัญญาเกินกว่าปุถุชนคนธรรมดาในโลกนี้แล้วล่ะครับ ”

 

ข้าพเจ้ายอมรับและสารภาพกับหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อครับ ผมขอยอมรับและสารภาพกับหลวงพ่อว่า แต่เดิมก่อนที่ผมจะได้พบหลวงพ่อนั้น ผมมีความหยิ่งทระนงและเชื่อมั่นในตัวเองมาโดยตลอด ว่าเป็นผู้มีสติปัญญาดีที่อยู่ในขั้นดีเยี่ยมผู้หนึ่งทีเดียว เพราะเป็นที่ยอมรับของบรรดาเพื่อนฝูงและครูบาอาจาร์ยตลอดมาว่า เป็นผุ้มีความจำดีมาก และเรียนหนังสือเก่ง ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ผมไม่ค่อยจะเลื่อมใสศรัทธาที่จะรับฟังคำสั่งสอนจากพระภิกษุสงฆ์

 

เพราะคิดว่าพระภิกษุสงฆ์เหล่านี้เรียนน้อยกว่าผม บางองค์จบแค่ประถม๔ ก็มี เมื่อเรียนน้อยก็ย่อมจะรู้น้อย สติปัญญาก็น่าจะมีน้อยตามไปด้วย ดังนั้นท่านจะมีปัญญามาสอนอะไรผมได้ และในบางครั้งผมยังเคยแอบนึกขำว่า คนระดับปริญญาโท ปริญญาเอกไปทนนั่งฟังพระแก่ๆอบรมสั่งสอนกันได้อย่างไร จนกระทั่งวันนี้เองผมจึงได้เข้าใจว่าสิ่งที่ผมมีในตัวเองนั้นเป็นเพียงแค่มี “สัญญา” ดีเท่านั้นเอง ซึ่งอาจจะจำในสิ่งที่ถูกได้ผิดได้ หากได้มี “ปัญญา”รู้แจ้งจริงเท่าทันในกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรมไม่”

 

                              “เออ!...ไม่เลวนี่ เข้าใจได้รวดเร็วดี อย่าลืมนะ คนที่มีความจำดี มีสัญญาดีนั้น หากเจริญวิปัสสนาพิจารณาความจริงโดยสม่ำเสมอแล้ว ปัญญาก็จะเกิดขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วกว่าคนอื่นนะ เพราะจดจำข้อมูลต่างๆที่มาพิจารณาได้มากว่าเขา” หลวงพ่ออธิบายให้กำลังใจแก่ข้าพเจ้า

 

                               ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คำถามของข้าพเจ้าและคำตอบของหลวงพ่อในข้อนี้ จะทำให้ท่านผู้อ่านมีความเข้าใจคำว่า “ปัญญา” ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะท่านผู้อ่านซึ่งเป็นคนมีมิจทิฐิเช่นเดียวกับข้าพเจ้า

 

คัดมาจากหนังสือของ พล.อ.ต. มนูญ ชมภูทีป

 

    

Visitors: 356,345