คนรวยมีโอกาสสร้างกุศลผลบุญได้มากกว่าคนจน จริงไหม?

 

ความที่ข้าพเจ้าเป็นคนช่างคิด ก็อดคิดไม่ได้ว่า อันคนรวยซึ่งมีตึกคฤหาสน์เป็นที่พำนัก พรั่งพร้อมไปด้วยข้าทาสบริวาร คนครัว คนรถ คนสวน คอยปรนิบัติรับใช้   จะขยับตัวทำอะไรซะหน่อย บริวารก็วิ่งกันพล่านแย่งยื้อทำให้หมด แต่ละห้องในบ้านก็มีเครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำ ไปโรงเรียนหรือกลับบ้าน ก็มีคนขับรถไปรับ-ส่งให้เสร็จ อยากจะได้อะไรก็ได้ เมื่ออยากจะทำบุญก็สามารถควักเงินออกทำบุญครั้งละเป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้านได้อย่างสบายๆ 

 

ผิดกับคนจนที่จะต้องดิ้นรนขวนขวายกางานทำ พอได้ค่าจ้างมาซื้อข้าวสารกรอกหม้อ และกับข้าวราคาถูก ไปเพียงวันหนึ่งๆ ไหนจะต้องกังวลเรื่องค่าเช่าบ้าน ไหนจะค่าเล่าเรียน ไหนจะดอกเบี้ยที่ไปกู้ยืมเขามา จิปาถะ มิหนำซ้ำบ้านที่อยู่ก็อุดอู้กาความสะดวกสบายใดมิได้เลย และแม้เมื่ออยากจะสร้างกุศลผลบุญกับเขาบ้าง ก็คงจะทำได้เพียงครั้งละ ๕ บาท ๑๐บาท เป็นอย่างมาก

 

ดังนั้น เมื่อความแตกต่างระหว่างคนร่ำรวยกับคนจนมีมากเช่นนี้ จึงทำให้ข้าพเจ้าเกิดความสงสัยขึ้นมาว่าโอกาสในการสร้างกุศลของคนร่ำรวย ย่อมมีมากกว่าคนจน และเมื่อเป็นเช่นนี้ อีกกี่ภพกี่ชาติ หากเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็ย่อมเป็นคนร่ำรวยอีก ส่วนคนจนก็น่าจะต้องยากจนอยู่เช่นนั้น ทุกภพทุกชาติไปซิ


                            ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงค่อยๆเลียบเคียงถามหลวงพ่อว่า

 

                            “หลวงพ่อครับ บรรดาเศรษฐีมีเงินทั้งหลายนั้น มีความเป็นอยู่ที่พรั่งพร้อม มีความสุขและสะดวกสบายทุกสิ่งทุกอย่าง ผิดกับคนจนมีแต่ความวิตกทุกข์ร้อน ทั้งในด้านการงาน ค่าเล่าเรียนลูก ค่าเช่าบ้าน ดอกเบี้ยที่ไปกู้ยืมเขามา จิปาถะ ดังนั้น คนร่ำรวยซึ่งไม่มีความทุกข์ ก็ย่อมได้เปรียบคนยากจนซึ่งมีแต่ความทุกข์ ในการสร้างกุศลผลบุญใช่ไหมครับ?”


                             “คุณรู้ได้อย่างไรว่าคนร่ำรวยไม่มีทุกข์?” หลวงพ่อย้อนถาม

 

                           “จะมีทุกข์อะไรล่ะครับ อยู่คฤหาสน์โอ่อ่า มีเครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำ สิ่งอำนวยความสะดวกก็เพียบพร้อม จะขยับตัวทำอะไรสักหน่อย ข้าทาสบริวารก็วิ่งกันพล่านยื้อแย่งทำให้หมด อยากจะได้อะไรก็ได้ เพราะมีเงินทองร่ำรวยมหาศาล” ข้าพเจ้าอธิบาย

                             “เอ้อ!..คุณเคยเจ็บไข้ได้ป่วย เช่นปวดหัว ปวดท้อง ปวดฟัน แขน ขาหัก ออกหัด อีสุกอีใส อีดำอีแดง กับเขาบ้างไหม?” หลวงพ่อถามเรื่อยๆ

                             “เคยสิครับ  และดูเหมือนจะเป็นมาแล้วทุกอย่างที่หลวงพ่อถามนั่นแหละครับ” ข้าพเจ้าชักลังเลใจ ไม่ทราบว่าหลวงพ่อจะมารูปแบบใด

                              “แล้วระหว่างเจ็บไข้นั้น คุณรู้สึกเป็นทุกข์ไหม?” หลวงพ่อถามต่อ

                             “แล้วคนร่ำรวย เขาต้องเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างคุณบ้างไหม หรือว่าคนร่ำรวยไม่มีสิทธิ์เจ็บไข้ได้ป่วย?” หลวงพ่อถามเรื่อยๆ

                             “ก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนๆกันแหละครับ แต่เขาคงมีหมอ มีพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด” ข้าพเจ้าตอบอ่อยๆ

 

                             “แต่คุณอย่าลืมนะว่า คนร่ำรวยหัวไม่แข็งอย่างคนจน เจ็บนิดเจ็บหน่อยละก็ เข้าเป็นทุกข์กว่าคนจนเสียอีกนะ ความเจ็บไข้บางชนิดคนจนเป็นวันสองวันหาย บางทีเป็นเองหายเอง เช่น หวัด แต่ถ้าคนร่ำรวยเป็นอาจต้องฉีดยา นอนให้น้ำเกลือกันเลยทีเดียว ทุกข์หนักกว่าคนจนนะ ”  หลวงพ่ออธิบายแล้วย้อนถาม

 

                             “แล้วคนรวยมีสิทธิ์แก่ชรา ตายหรือไม่?”

 

                             “โธ่! หลวงพ่อ จะมีหรือจนเกิดมาก็ต้องเจ็บ ต้องแก่ ต้องตายทุกคนแหละครับ” ข้าพเจ้าตอบตามความเป็นจริง

                             “แล้วคุณว่า ความเจ็บ ความแก่ ความตายเป็นทุกข์ไหม?” หลวงพ่อถาม

 

                             “เป็นทุกข์สิครับ  แม้เพียงคิดถึงก็เกิดทุกข์แล้วครับ” ข้าพเจ้าตอบ

                             “แล้วถ้าเป็นบิดา มารดา ลูก เมียของคุณต้องตายจากไปก็ดี หรือข้าวของเครื่องใช้ที่คุณรักใคร่ห่วงแหนหายไปคุณเป็นทุกข์ไหม?” หลวงพ่อถาม

                             “เป็นทุกข์สิครับ มากด้วย” ข้าพเจ้าตอบ

 

                             การพลัดพรากจากของรัก ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้นนะ ไม่ว่าคุณจะร่ำรวยหรือคนจน หากประสบเข้าก็ล้วนต้องทุกข์ทั้งสิ้น ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันนะ ความจริงแล้วคนร่ำรวยที่มีกิจการใหญ่โต เขาก็ต้องกู้เงินจากธนาคารมาลงทุนนะ ต้องเสียดอกเบี้ยเหมือนกัน ทุกข์กว่าคนจนเสียอีก บางคนถึงกับฆ่าตัวตายก็มี บ้านช่องก็ถูกยึดไปก็มี ส่วนการมีข้าทาสบริวาร ยิ่งมากเท่าไหร่ปัญหาก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งคนรวยมีกิจการมากมายไม่มีอบรมลูก อีกทั้งลูกก็ถือว่าพ่อแม่ร่ำรวย ประพฤติตนไปในทางเสื่อมเสีย ก็ยิ่งทำให้พ่อแม่ทุกข์หนักได้เช่นกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบใครหรอก เป็นแต่ว่าทุกข์กันคนละรูปแบบเท่านั้นเองนะ” หลวงพ่ออธิบายอย่างละเอียด

 

                           “แต่คนร่ำรวยก็ยังได้เปรียบคนจนในการทำบุญอยู่ดีแหลครับหลวงพ่อ เพราะคนร่ำรวยอาจทำบุญได้ครั้งละเป็นหมื่นเป็นแสน เป็นล้าน ในขณะคนจนทำบุญได้ครั้งละ ๕บาท ๑๐บาทเท่านั้นเอง” ข้าพเจ้าติง

 

                            “การทำบุญด้วยเงินก็ดี อาหารก็ดี เสื้อผ้าหรือสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆก็ดี เขาเรียกว่า “วัตถุทาน”นะ และกุศลผลบุญอันเกิดจากวัตถุทานนั้นหาได้วัดกันได้ที่จำนวนเงิน หรือจำนวนสิ่งของเครื่องใช้ไม่ แต่เขาวัดกันที่องค์ประกอบ ๓อย่าง คือ

๑.      ผู้ให้มีความเต็มใจในการให้ (ถึงพร้อมด้วยเจตนา)

๒.    วัตถุทานที่ให้นั้นได้มาด้วยความบริสุทธิ์ (ถึงพร้อมด้วยไทยธรรม)

๓.    ผู้รับมีความบริสุทธิ์ (ถุงพร้อมด้วยบุญเขต)


                            ดังนั้น หากคนจนบริจาคเงินทำบุญเพียงแค่ ๕บาท๑๐ บาท แต่มีความเต็มใจในการทำบุญ อีกทั้งเงินนั้นหามาด้วยความสุจริต ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน ก็ย่อมได้กุศลผลบุญมากกว่าคนร่ำรวยที่บริจาคเงินเป็นหมื่น เป็นแสนหรือเป็นล้าน ด้วยเจตาที่หวังอวดหรือเบ่งทับผู้อื่น หรือว่าเงินที่บริจาคนั้นได้มาเพราะคดโกงเขามานะ”  หลวงพ่ออธิบาย ทำให้ข้าพเจ้าค่อยยิ้มออก

                             “แล้วที่ว่าผู้บริสุทธิ์ล่ะครับ หมายความว่าอย่างไรครับ?” ข้าพเจ้าถาม

                             “อ๋อ!...หมายความว่า ให้ทานแก่ผู้ที่เป็นอริยบุคคล เป็นเนื้อนาบุญของโลก มีอานิสงส์สูงมาก พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบไว้ดังนี้


ให้ทานแก่พระสกิทาคามี ๑ ครั้ง มีผลมากกว่าให้ทานแก่พระโสดาบัน ๑๐๐ครั้ง

ให้ทานแก่พระอนาคามี ๑ ครั้งมีผลมากกว่าให้ทานแก่พระสกิทาคามี ๑๐๐ ครั้ง

ให้ทานแก่พระอรหันต์ ๑ ครั้งมีผลมากกว่าให้ทานแก่พระอนาคามี ๑๐๐ ครั้ง

ให้ทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑ ครั้งมีผลมากกว่าให้ทานแก่พระอรหันต์ ๑๐๐ ครั้ง

ให้ทานแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ ครั้งมีผลมากกว่าให้ทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ ครั้ง

ให้ทานแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข(สังฆทาน) มีผลมากกว่าถวายทานทานแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ ครั้ง

และการสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากจตุรทิศ  มีผลมากกว่าสังฆทาน เข้าใจหรือยังล่ะ?” หลวงพ่ออธิบายอย่างอารมณ์ดี และเมื่อยังเห็นข้าพเจ้าสนใจก็พูดต่อว่า


“ความจริงแล้ว วัตถุทานนี้ แม้ไม่มีเงินสักบาทเดียวก็ทำได้”

 

                            “ทำอย่างไรครับหลวงพ่อ?” ข้าพเจ้าถามอย่างสนใจ

 

                            “ก็คอย โมทนา เขาไงล่ะ ใครถวายเงินแสน เงินล้าน คุณก็ยกมือไหว้ กำหนดจิตโมทนาไปกับเขาด้วย เขาได้บุญเท่าไร คุณก็ได้เท่านั้นแหละดีไหมล่ะ ไม่ต้องไปอิจฉาคนร่ำรวยให้เสียเวลาจริงไหม?” หลวงพ่อตอบ

 

                            “แบบนี้ไม่เป็นการเอาเปรียบผู้อื่นหรือครับ?” ข้าพเจ้าติดใจสงสัย

 

                            “ไม่เอาเปรียบหรอก เพราะคุณจะโมทนาหรือไม่ก็ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ผู้ทำบุญนี่ เขาก็ยังคงได้บุญของเขาเต็มที่อย่างเดิมนั่นแหละ แต่อย่างไรก็ตาม วัตถุทานนี้ก็เป็นเพียงทานเบื้องต้นเท่านั้นนะ ยังมีทานแบบอื่นที่ไม่ต้องใช้เงินใช้ทองเลยแม้แต่บาทเดียว แต่ให้กุศลผลบุญได้สูงกว่าวัตถุทานเสียอีก” หลวงพ่ออธิบาย

 

                            “ทำทานแบบใดละครับ?” ข้าพเจ้ารีบถามด้วยความสนใจ

 

                            “อภัยทานอย่างไรล่ะ ใครเขาทำผิดคิดร้ายต่อคุณอย่างไร คุณก็ไม่ถือโกรธ อภัยให้เขาไปเสีย เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านให้แก่บรรดาผู้คนที่มุ่งร้ายต่อองค์ท่านนั่นแหละ เห็นไหมไม่ต้องเสียเงินสักบาทเดียว แต่ได้กุศลผลบุญมากกว่าบริจาคเงินเป็นจำนวนมากๆเสียด้วยซ้ำไป” หลวงพ่ออธิบายยิ้มๆ

 

                             “แหม!..หลวงพ่อครับ ได้บุญมาโดยไม่เสียเงินก็จริง แต่มันทำได้ยากนะครับ โดยเฉพาะผมแล้ว  ผมชอบประพฤติปฏิบัติต่อผู้คนแบบเกลือจิ้มเกลือ คือดีมาก็ดีตอบ ร้ายมาก็ร้ายตอบ แรงมาก็แรงไป หวานมาก็หวานไป อะไรทำนองนี้แหละครับ มันค่อยมีชีวิตชีวาหน่อย ขืนอภัยให้บ่อยๆคนเลวๆเหล่านั้นก็ยิ่งได้ใจใหญ่ คิดว่าเราแหยสิครับ เคยแค่แอบลอบนินทา ลอบกัดลับหลัง คราวนี้ล่ะก็มันต้องบุกเข้ามาด่าว่าท้าทายถึงในบ้านเป็นแน่” ข้าพเจ้าตอบไปตามที่คิด

 

                            “อ้าว!..อยากได้บุญมาก หนำซ้ำไม่ต้องเสียเงินเสียทองด้วย ก็ต้องยากหน่อยสิ แต่ก็มิใช่ยากเย็นจนทำไม่ได้นะ หากควบคุมสติได้ แล้วคิดว่า โอ! หนอ คนเลวเหล่านี้ คงรับกรรมอยู่ในนรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉานมานานหลายภพหลายชาติแล้วกว่าจะชดใช้กรรมชั่วหมดได้เกิดมาเป็นมนุษย์กับเขาชาติแรกได้ ก็ต้องทนทุกข์เวทนาอย่างแสนสาหัส มาหลายกัปหลายกัลป์ แม้เป็นมนุษย์แล้วความเลวร้ายก็ยังติดตามมาหลายภพหลายชาติ จะใช้วิธีเกลือจิ้มเกลือ คือร้ายมาร้ายไป เลวมาก็เลวไปอย่างที่คุณว่าแล้ว เราจะมิต้องเป็นคนเลวเช่นเขาเหล่านั้นหรอกหรือ  ต้องพยายามคิดอย่างนี้นะ แล้วในที่สุดคุณจะให้ “อภัยทาน”ได้เองนะ ยิ่งถ้าคุณได้เจริญวิปัสสนาญาณด้วยแล้ว การให้อภัยทานจะเป็นของง่ายมาก” หลวงพ่ออธิบายและเมื่อยังเห็นข้าพเจ้าสนใจก็พูดต่อว่า

 

                               “ยังมีทานที่ไม่ต้องใช้เงินใช้ทอง แต่ได้กุศลผลบุญสูงกว่าอภัยทานอีกนะ”

 

                               “ทานอะไรหรือครับ ที่สูงกว่าอภัยทาน” ข้าพเจ้าถามด้วยความอยากรู้

 

                               “ก็ ธรรมทาน ยังไงล่ะ สร้างสมได้ด้วยชี้แนะสั่งสอนผู้คนที่ประพฤติตนหลงผิด คิดชั่วให้กลับตัวเป็นคนดี เป็นที่ยอมรับของสังคมโดยทั่วไป หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ ช่วยนำทางคนที่เดินทางผิดให้เดินถูกทางนั่นแหละ ธรรมทานนี้จะได้กุศลผลบุญสูงกว่าอภัยทานนะ เพราะแม้เราจะให้อภัยทานแก่คนที่เลวร้ายไปแล้วก็ตาม แต่เขาก็หาได้รอดปลอดภัยไม่ อาจถูกคนอื่นที่เขาไม่ให้อภัยกำจัดเสีย แต่ถ้าเราให้ธรรมทาน จนสามารถทำให้คนเลวกลับกลายเป็นคนดีเสียได้ เขาจะอยู่ได้โดยรอดปลอดภัยใช่ไหม” หลวงพ่ออธิบาย

 

                               “ครับ..แต่แหม!..มันก็ยากยิ่งกว่าให้อภัยทานเสียอีก เพราะอภัยทานนั้น เราเพียงอภัยให้ในใจ ไม่ต้องไปข้องแวะกับคนเลวๆพรรค์นั้น เขาร้ายมาเราก็เลี่ยงเสีย เขาด่าเขานินทาเราก็เอาหูทวนลมเสีย แต่ถ้าถึงขั้นต้องพาตัวเข้าไปอบรมสั่งสอนคนชั่วร้ายเช่นนั้น คงไม่ไหวหรอกครับหลวงพ่อ” ข้าพเจ้าตอบอย่างส่ายหัวอย่างท้อแท้

 

                               “อ้าว!..ถ้าคุณยังทำใจไม่ได้ ก็ต้องรู้จักใช้อุบายซิ เช่น ถ้าคุณรู้ว่าคนเลวผู้นั้นนับถือใคร หรือเกรงใจใครอยู่และบังเอิญคุณก็รักใคร่ชอบพอกับเขาก็ขอความร่วมมือจากเขา ฝากหนังสือธรรมะไปให้เขาอ่านบ้าง หรือหาทางชวนเขาไปหาพระฟังธรรมบ้าง หรือหาทางล่อหลอกพามาหาฉันก็ได้นะ อย่างนี้คุณก็ได้ธรรมทานด้วยเช่นกัน” หลวงพ่ออธิบาย เห็นข้าพเจ้าฟังอย่างตั้งใจก็พูดต่อว่า ”

 

ยังมีมีสร้างกุศลผลบุญสูงกว่าทานทั้งหลายที่ โดยที่ไม่ต้องเสียเงินและข้องแวะกับบุคคลอื่นอีกด้วยนะ”

 

                               “ทำอย่างไรครับหลวงพ่อ” ข้าพเจ้ารีบถามอย่างกระตือรือร้น

 

                               “การรักษาศีลอย่างไรเล่า อย่างคุณรักษาศีล๕ ให้บริสุทธิ์ก็พอแล้ว ได้บุญมากกว่าการให้ทานทุกรูปแบบเสียอีกนะ และยิ่งอยากให้ได้กุศลผลบุญมากกว่าการรักษาศีลก็ต้อง เจริญภาวนา ให้ได้ ฌานสมาบัติ หากคุณสามารถทรงฌานได้ และจิตอันเป็นเอกัคคตารมณ์ คือมีอารมณ์เป็นหนึ่งได้แม้เพียงชั่วเสี้ยววินาที หรือแค่ช้างกระดิกหูเท่านั้น  คุณก็จะได้กุศลผลบุญมากเสียกว่าถือบวชตั้งหลายพรรษา โดยมิได้เจริญภาวนาเสียอีกนะ ” หลวงพ่ออธิบาย

 

                               “เอ!..ถ้ายังงั้น ผมเลือกสร้างกุศลผลบุญด้วยการเจริญภาวนาเสีย! เลยจะมิดีกว่าหรือครับ? ได้บุญกุศล ได้บุญสูงกว่าการให้ทาน และรักษาศีลเสียอีก” ข้าพเจ้าถามและให้ข้อคิดเห็น

 

                               “มันไม่ง่ายอย่างที่คุณคิดน่ะซี  การขึ้นบันไดเขาก็ต้องขึ้นทีละขั้น มิใช่กระโดดทีเดียวขึ้นไปอยู่บันไดขั้นสูงสุดเลย ดีไม่ดีตกมาแข้งขาหักนะ การให้ทานบ่อยๆย่อมทำให้ตัวเมตตา คือ ความรักเกิด ตัวกรุณา คือความสงสารเกิด และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ทำให้คุณเกิดความละอายที่จะผิดศีลโดยเฉพาะศีล ๕และเมื่อศีล๕ บริสุทธิ์ การเจริญภาวนาก็เป็นไปโดยง่าย มันเป็นบันได๓ ขั้นนะ จะกระโดดพรวดพราดไปเจริญภาวนาเลยมันก็ยากเย็น หากไม่มีการให้ทานและรักษาศีลมาก่อน เสมือนหนึ่งก้าวกระโดจากพื้นขึ้นพื้นบันไดสุดท้ายนั่นแหละ แต่ก็อาจทำได้นะ ถ้าคุณมีวิชาตัวเบาเหมือนหนังจีน และก็เคยมีคนในสมัยพระพุทธเจ้าทำมาแล้วด้วยเหมือนกันคือ 

 

ท่านผู้นั้นดูถูกว่าการให้ทานเป็นกุศลผลบุญขั้นต่ำ จึงมุ่งรักษาศีลและเจริญภาวนาไปเลย ด้วยกุศลผลบุญดังกล่าวเมื่อตายไปก็เป็นผลทำให้เกิดมาเป็นมนุษย์ และได้บวชในพระพุทธศาสนา เมื่อบวชใหม่ได้ออกบิณฑบาต แต่เนื่องจากท่านอาวุโสน้อยที่สุด จึงต้องเดินท้ายสุด ปรากฏว่าชาวบ้านที่นำอาหารมาใส่บาตรพอใส่มาถึงพระท่านนั้นอาหารก็หมดพอดี ทำให้พระท่านนั้นต้องนำบาตรเปล่ากลับอาศรม และต้องอาศัย และต้องอาศัยภัตตาหารจากพระรูปอื่นที่แบ่งปันให้พอได้ขบฉัน

 

                              ในวันรุ่งขึ้น พระอุปัชฌาย์จึงสั่งพระท่านนั้น ออกเดินนำหน้าพระภิกษุรูปอื่นออกบิณฑบาต  โดยให้เหตุผลว่าเมื่อวานนี้พระท่านนั้นเดินท้ายแถวจึงไม่ได้อาหาร ส่วนทางฝ่ายชาวบ้านกลับนัดแนะกันว่า เมื่อวานเราใส่บาตรจากหัวไปท้ายแถว ทำให้พระท่านหนึ่งซึ่งอยู่ท้าแถวไม่ได้รับอาหารเลย ดังนั้นวันนี้เราจงใส่บาตรจากท้ายแถวไปทางหัวแถว เพื่อเป็นการชดเชยด้วยเถิด ด้วยเหตุนี้พระที่มา ชาวบ้านก็ใส่บาตรจากท้ายแถวไปทางหัวแถว และพอใส่บาตรมาถึงพระท่านนั้นที่อยู่หัวแถวอาหารก็หมดพอดี ทำให้พระท่านนั้นต้องนำบาตรเปล่ากลับอาศรมเช่นเดียวกับวันแรกอีก

 

                                วันต่อมา พระอุปัชฌาย์จึงสั่งให้พระท่านนั้นออกบิณฑบาตโดยให้อยู่ในตำแหน่งกลางแถวในวันต่อมา โดยให้เหตุผลว่า คราวนี้แม้ชาวบ้านจะใส่บาตรจากหัวแถว หรือท้ายแถวก็ตาม พระท่านนั้นย่อมต้องได้ภัตราหารแน่ ส่วนทางฝ่ายชาวบ้านก็ปรึกษากันว่า สองวันแล้วนะที่เรานำอาหารมาใส่บาตร และไม่ว่าจะใส่จากหัวไปหางแถว หรือหางแถวไปหัวแถวก็ตาม มีพระภิกษุรูปหนึ่งไม่เคยได้รับอาหารเลยนะ อย่ากระนั้นเลยในวันรุ่งขึ้นพวกเราจงแบ่งเป็นสองกลุ่มเถิด กลุ่มหนึ่งใส่บาตรจากหัวแถว อีกกลุ่มใส่บาตรจากท้ายแถว เพราะถ้าทำวิธีนี้แล้วไม่ว่าพระท่านนั้นจะเดินบิณฑบาตหัวแถวหรือท้ายแถว ย่อมต้องได้ภัตตาหารจากพวกเราอย่างแน่นอน

 

                                ดังนั้นในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระออกมาบิณฑบาต ชาวบ้านก็แยกออกเป็นสองกลุ่ม และแยกกันใส่บาตรตามที่นัดแนะกัน ปรากฏว่าพอถึงพระท่านนั้นที่อยู่ตรงกลาง อาหารก็หมดพอดี ทำให้พระท่านนั้นต้องนำบาตรเปล่ากลับอาศรม ในวันที่๔ พระอุปัชฌาย์จึงให้พระบวชใหม่เข้าแถวเป็นองค์ที่สองต่อจากท่าน เมื่อชาวบ้านใส่องค์แรกแล้วก็มองข้ามไปองค์ที่สาม เนื่องจากไม่เห็นบาตรองค์ที่สอง พระอุปัชฌาย์จึงใช่มือจับปากบาตรพระบวชใหม่ ชาวบ้านจึงเห็นบาตรของพระองค์ที่สอง และใส่บาตรท่านได้โดยอาศัยบารมีของพระอุปัชฌาย์

 

                                    เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงทราบเรื่องแล้ว จึงได้ทรงอธิบายว่า พระท่านนั้นในอดีตชาติมิได้สร้างสมทานบารมีมาเลย ด้วยดูถูกว่าทานบารมีเป็นกุศลผลบุญขั้นต่ำ จึงมุ่งแต่รักษาศีลและเจริญภาวนา ดังนั้นเมื่อเกิดมาในชาตินี้จึงขาดลาภและขาดแคลนในทุกสิ่งทุกอย่าง  แม้แต่อาหารการกินดังที่ได้ประจักษ์แล้ว ผิดกับพระสิวลี ซึ่งในอดีตชาติสร้างทานบารมีมามาก มาในชาตินี้จึงอุดมสมบูรณ์ เป็นยังไงล่ะ คุณมนูญ จะเอาอย่างพระท่านนั้นหรือ? ” หลวงพ่ออธิบายโดยละเอียด แล้วย้อนถามข้าพเจ้า

 

                                    “เอ!..ถ้าหากเป็นเช่นนี้ผมก็เห็นจะต้องรีบสร้างทานและรักษาศีลก่อนแล้วล่ะครับ”

                   ท่านผู้อ่านที่รัก พอเข้าใจแล้วใช่ไหมครับว่า ไม่ว่าท่านจะเป็นคนร่ำรวยล้นฟ้า หรือยากจนค่นแค้นสักปานไหนก็ตาม ท่านมีโอกาสสร้างกุศลผลบุญได้ไม่น้อยหน้ากันเลยครับ 

 

คัดมากจากหนังสือสู่แสงธรรมของ พล.อ.ต.มนูญ ชมภูทีป

Visitors: 355,905