พระสงฆ์ปฏิบัติตนเหมาะสมแล้วหรือ?

 

การที่ข้าพเจ้าได้พบเห็นเหตุการณ์แปลกๆ และสิ่งที่อาจเรียกว่ามหัศจรรย์ต่างๆจากหลวงพ่อหลายหนหลายครั้ง ดังที่ได้เขียนเล่าให้ท่านผู้อ่านรับทราบแล้วในตอนที่ ๑ อีกทั้งได้สอบถามปัญหาหลวงพ่อไปบ้างแล้ว และก็ได้รับคำตอบที่แจ่มกระจ่างในทุกปัญหาที่ถามซึ่งในชีวิตของข้าพเจ้ายังไม่เคยพบพระสงฆ์องค์ใด ที่มีปฏิภาณไหวพริบเป็นเลิศ เช่นหลวงพ่อมาก่อน ก็ยิ่งบังเกิดความเลื่อมใสอย่างจริงใจ และเกิดศรัทธาที่จะปฏิบัติธรรมกับเขาบ้าง แต่ก็เป็นเพียงแต่ความคิดเท่านั้น ยังปฏิบัติไม่ได้สักที

 

                   ด้วยจิตยังเคลือบแคลงสงสัยในพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าอยู่  ทั้งนี้เพราะเมื่อครั้งที่ข้าพเจ้ายังเยาว์วัยประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ซึ่งยังอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าได้ไปช่วยเหลือปรนนิบัติหลวงปู่ (เป็นปู่ของข้าพเจ้าเอง) ซึ่งบวชอยู่วัดแห่งหนึ่ง (ขอสงวนนาม) เป็นระยะเวลานานพอสมควร ในช่วงนั้นก็ได้เห็นความแหลกเหลวของพระในวัดมากมา อาทิเช่น มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก มีการแยกเส้นทางบิณฑบาต มีการเลือกรับนิมนต์เฉพาะเจ้าภาพรายที่คาดคิดว่า เมื่อไปแล้วจะได้ฉันอาหารรสเลิศ และได้รับการถวายเงินมากพอคุ้มค่า ครั้งเมื่อผิดหวังกลับถึงวัดก็นั่งสวดเจ้าภาพ  เป็นต้น

 

                   และอีกครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้ามีโอกาสติดตามหลวงปู่ไปที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี (ขอสงวนนาม)  ซึ่งเป็นช่วงของงานพิธีสลากภัตมะม่วงพอดี  จึงขออนุญาตหลวงปู่ติดตามบรรดาลุกศิษย์วัดบริเวณพิธีที่เขาบันไดอิฐ ปรากฏว่าบรรดาพุทธศาสนิกชนนำมะม่วงมาคอยใส่บาตรพระเรียงรายสองฟากบันไดขึ้นลงเขาแน่นขนัดไปหมด  ลูกศิษย์แต่ละคนต้องถ่ายมะม่วงจากบาตรพระใส่ตะกร้าหาบแต่ละหาบมีมะม่วงเต็มแทบจะล้น ระหว่างทางที่หาบมะม่วงกลับวัดนั้น ลูกศิษย์ทุกคนแม้จะเหน็ดเหนื่อยแต่ก็พูดคุยกันด้วยใบหน้ายิ้มแย้มและหวังกันว่าวันนี้แหละคงจะได้ลิ้มรสมะม่วงอกร่องสุกอร่ามกันให้เต็มคราบ สมกับที่อยากกินกันมานานเสียที  ข้าพเจ้าเองซึ่งมีส่วนช่วยผลัดเปลี่ยนลูกศิษย์วัดบางคนหาม ก็พลอยมีความหวังไปกับเขาด้วย

 

                   แต่เมื่อถึงวัด ความหวังของลูกศิษย์ทุกคนรวมถึงข้าพเจ้าก็พังทลายลงอย่างไม่น่าเชื่อ  กล่าวคือพระแต่ละองค์ได้สั่งให้ลูกศิษย์นำหาบมะม่วงในส่วนของตน เข้าไปจัดเรียงไว้ในห้องของตน แล้วปิดห้องลั่นกุญแจเสียสิ้น พระแต่ละองค์ต่างก็ถือมะม่วงติดมือกันออกมาเพียงองค์ละลูกสองลูกพอแก่การฉันของตนเองเท่านั้นเอง เชื่อไหมครับว่านอกจากลูกศิษย์จะไม่ได้ลิ้มรสมะม่วงที่อุตส่าห์ไปหาบหามกันมาแล้ว แม้อาหารอื่นที่เหลือจากพระฉัน เป็นต้นว่าไข่เค็ม ปลาแห้ง ปลาสลิด เนื้อเค็ม หรืออาหารที่พอจะเก็บไว้นานๆ ได้ หลวงตา หลวงลุง หลวงอา หลวงพี่ทั้งหลายเหล่านั้นก็เอากระดาษหนังสือพิมพ์ห่อเก็บเข้ากุฎิกันเป็นแถว 

 

คงเหลือแต่เศษข้าวกับน้าแกงคาถ้วยให้บรรดาลูกศิษย์กิน นี่เป็นเพียงมื้อเช้าเท่านั้นนะ พอตกเพลพระเหล่านั้นก็ลำเลียงอาหารจากกุฎิออกมาองค์ละอย่างสองอย่างโดยเลือกเอาเฉพาะที่เห็นว่าหากเก็บไว้ต้องบูดแน่ ส่วนไข่เค็ม ปลาแห้ง ปลาสลิด และเนื้อเค็มนั้นยังคงห่อเก็บแอบไว้ในกุฎิอย่างเหนียวแน่นรัดกุม ซึ่งเมื่อฉันเพลเสร็จก็คงเหลือเพียงข้าวก้นบาตรให้ลูกศิษย์แย่งกันกินเท่านั้น ยิ่งมื้อเย็นด้วยแล้วไม่ต้องพูดถึงเลย หากเย็นใดโชคดีก็พอมีข้าวที่เกือบจะบูดพอคลุกน้ำปลาได้บ้าง เคราะห์ดีที่หลวงปู่ของข้าพเจ้าได้กรุณามอบเงินไว้ให้ข้าพเจ้าแยกไปหาซื้ออาหารกินเองต่างหาก ไม่เช่นนั้นคงจะลำบากมิใช่น้อย

 

แม้ว่าในขณะนั้นข้าพเจ้าจะเยาว์วัย  แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่ามะม่วงจำนวนมากที่พระแต่ละองค์แยกกันไปกองเก็บไว้ในกุฎิของตนนั้น หากจะฉันโดยลำพังแล้วไม่น่าจะฉันกันได้หมด และมะม่วงก็คงจะต้องเน่าเสียก่อนเป็นแน่ และก็จริงดังคาดได้ มีญาติโยมของพระแต่ละองค์มาพากันขนไปในวันรุ่งขึ้นจึงหมดสิ้น ซึ่งข้าพเจ้าเองก็ไม่ทราบว่าจะขนเอาไปกินหรือขนเอาไปขายกันแน่ 

 

อีกครั้งหนึ่งในระหว่างที่ข้าพเจ้ายังเป็นนักเรียนนายร้อย จ.ป.รและมีโอกาสได้กลับไปเยี่ยมบ้านที่เชียงใหม่ในช่วงปิดภาคเรียน วันหนึ่งได้ขี่จักรยานเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ รอบเมือง ผ่านวัดแห่งหนึ่ง(ของสงวนนาม)  เห็นพระเณรกำลังช่วยกันมุงกระเบื้องหลังคาโบสถ์เหงื่อไหลไคลย้อย จึงหยุดดู นึกชมในใจว่าพระเณรเหล่านี้ทีความขยันขันแข็ง มีจิตใจดีช่วยกันบูรณะซ่อมแซมโบสถ์ชำรุด  ซึ่งเป็นสมบัติล้าค่าในการใช้ประกอบศาสนกิจโดยไม่คำนึงความเหนื่อยยาก

 

ในขณะที่กำลังนึกชื่นชมอยู่นั้น ก็มีเด็กนักเรียนหญิงรุ่นสาวกลุ่มหนึ่งเดินผ่านมา บรรดาพระเณรที่กำลังมุงกระเบื้องหลังคาโบสถ์อยู่ต่างก็พากันละมือ หันไปจ้องมองนักเรียนสาวกลุ่มนั้นเป็นตาเดียวกัน  และพร้อมกันนั้นก็มีเสียงหนึ่งหลังคาโบสถ์ตะโกนว่า “ซ้าย ขวา ซ้าย” ให้จังหวะการเดินของนักเรียนสาวๆ และพลันก็มีลูกคู่จากบนหลังคาโบสถ์ตะโกนขานรับ“ซ้าย ขวา ซ้าย”  กันอย่างเซ็งแซ่  ความรู้สึกชื่นชมของข้าพเจ้าที่มีอยู่เมื่อสักครู่หายไปโดยฉับพลัน และกลายเป็นความโกรธเกลียดเข้ามาแทนที่  อย่างไม่สามารถที่จะระงับไว้ได้จึงตะโดนขึ้นไปว่า “เฮ้ย!...อะไรกันโว้ย” และด้วยเสียงตะโกนนี้เองจึงทำให้พระเณรเหล่านั้นเลิกราความคึกคะนอง  กันไปมุงหลังคาโบสถ์ต่อไปได้

 

                     อีกครั้งหนึ่งข้าพเจ้าไปฝึกภาคปฏิบัติที่ปราจีนบุรี และทางโรงเรียนนายร้อย จปร.ได้ให้นักเรียนกางกระโจมที่พักอยู่ที่สนามหญ้าหน้ากำแพงวัด  ตกตอนเย็นข้าพเจ้าและเพื่อนๆก็ได้เห็นพระ ๓รูปล้อมวงเตะตะกร้อกันและอีก ๓รูปล้อมลงดื่มน้ำข้าวกันอย่างครื้นเครง

 

                      นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ไม่เข้าท่าของผู้ครองผ้าเหลืองอีกมากมายที่ข้าพเจ้าได้พบได้เห็นมา  ซึ่งจะไม่ขอมากล่าวในที่นี้ แต่สรุปรวมความว่า ภาพความเหลวแหลกและพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมของพระสงฆ์ดังกล่าวมันฝังอยู่ในจิตใจของข้าพเจ้ามาโดยตลอด  ยากที่จะทำใจให้มีความเคารพนับถือด้วยความจริงใจได้  และถ้าหากขืนปล่อยทิ้งไว้ก็จะเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงในการปฏิบัติธรรมอย่างแน่นอน    ดังนั้นในวันหนึ่งข้าพเจ้าจึงได้ระบายความรู้สึกของข้าพเจ้าให้พลวงพ่อฟังว่า

 

                       “หลวงพ่อครับ ผมขอสารภาพกับหลวงพ่ออย่างตรงไปตรงมานะครับว่า ผมเคารพในพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าท่านทรงเป็นผู้เสียสละอย่างใหญ่หลวง  เพื่ออกบวชแสวงหาสัจธรรมด้วยความยากลำบากอย่างแสนเข็ญโดยลำพังพระองค์เอง  และเมื่อทรงตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ยังทรงเมตตาแสดงธรรมสั่งสอน  ให้สัตว์โลกทั้งหลายพ้นทุกข์อีกด้วย ดังนั้นผมจึงเคารพเทิดทูนพระพุทธองค์ ด้วยความจริงใจโดยไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยใดใดทั้งสิ้น  และผมก็เคารพในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโดยไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยเช่นกัน  ทั้งนี้เพราะผมได้พิจารณาในพระธรรมคำสั่งสอนด้วยเหตุและผลแล้ว  เห็นว่าเป็นความจริงตลอดกาล หาอะไรมาโต้แย้งไม่ได้เลย และถ้าปฏิบัติตามก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดีที่ควรทั้งต่อตัวเองและสังคมส่วนรวมทั้งสิ้น แต่พระสงฆ์นี่สิครับ ผมบอกตรงๆเลยว่าผมไม่ศรัทธา ”  

 

                        “พระสงฆ์เป็นอย่างไรหรือ ?” หลวงพ่อถามอย่างอารมณ์ดีและข้าพเจ้าก็ได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดที่ข้าพเจ้าเคยประสพมาให้หลวงพ่อฟังดังที่เขียนไว้แล้วในตอนต้น ซึ่งหลวงพ่อฟังแล้วก็ยิ้มถามเรื่อยๆว่า

 

                           “เออ!...แล้วคุณรู้ได้อย่างไรว่าท่านเหล่านั้นเป็นพระสงฆ์”

                           “พระสงฆ์ซีครับหลวงพ่อ เพราะโดนหัวนุ่งห่มเหลืองแบบหลวงพ่อนี่แหละครับ ”ข้าพเจ้าชักเริ่มหงุดหงิด

                           “ที่โกนหัว แล้วนุ่งเหลืองห่มเหลืองน่ะ เขาเรียกว่าสมมติสงฆ์ ไม่ใช่พระสงฆ์หรอก เออ!..นี่คณสวดอิติปิโสฯได้ไหม?”หลวงพ่อพูดแล้วย้อนถามข้าพเจ้า

 

                           “โธ่!..หลวงพ่อ ตอนเป็นนักเรียนนายร้อยน่ะ เขาจับผมเข้าแถวสวดมนต์เข้านอนทุกคืน ไม่เคยว่างเว้นเลยนะครับโดยเฉพาะอิติปิโสฯน่ะ ผมสวดคล่องมากเพราะย่าสอนให้ตั้งแต่เด็ก” ข้าพเจ้ารีบตอบ

 

                            “เออ!..ดีมากไหนคุณลองสวดอิติปิโสฯท่อนสุดท้ายให้ฉันฟังซิ ” หลวงพ่อพูดยิ้มๆ

                            “สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิตัง จัตตาริ ปุริสะยูคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลี กะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ ฯ” ข้าพเจ้าสวดให้หลวงพ่อฟังตามที่ท่านั่งอย่างชัดท้อยชัดคำ ทั้งๆที่ยังงงอยู่ว่าหลวงพ่อให้สวดไปทำไม

 

                              “เอาล่ะ  ทีนี้คุณลองแปลให้ฉันฟังสิว่าในบทสวดตอนนี้เขาว่ายังไง” หลวงพ่อถาม

                              “เขาก็ให้ระลึกถึงคุณงามความดีของพระสงฆ์ นั่นแหละครับ” ข้าพเจ้าตอบอย่างขอไปทีเพียงแค่คิดเอาตัวรอด  แต่ก็ไม่รอดเพราะหลวงพ่อถามย้ำอีกว่า “นั่นสิ ที่ว่าคุณงามความดีของพระสงฆ์น่ะ มีอะไรบ้าง”

 

                               “ไม่ทราบครับ” ข้าพเจ้าตอบเสียงอ่อยๆ อย่างจำนน ด้วยไม่รู้จริงๆว่าเขาแปลว่าอย่างไร

 

                               “ความจริงแล้ว อิติปิโสฯ ท่อนสุดท้ายท่านกล่าวไว้โดยละเอียดนะว่า พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านั้น จะต้องเป็นพระสุปะฏิปันโน คือเป็นผู้ที่ปฏิบัติดี ,อุชุปฏิปันโน คือผู้ที่ปฏิบัติตรง, ญายะปฎิปันโน คือ เป็นผู้ที่ปฏิบัติควรแล้ว ,สามีจิปฎิปันโนคือผู้ที่ปฏิบัติชอบแล้วอย่างไรล่ะ เข้าใจไหม? เช้าใจไหมล่ะ?หลวงพ่ออธิบาย แล้วถามข้าพเจ้าด้วยความเมตตา

 

                               “เข้าใจแล้วครับหลวงพ่อ ผมเพิ่งนึกออกตอนนี้เองครับว่า ในตอนเข้าแถวสวดมนต์นั้นมีคำแปลของตอนนี้ด้วยว่า พระสงฆ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดี,ปฏิบัติตรง,ปฏิบัติควร,ปฏิบัติชอบและเป็นพยานในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  ว่าปฏิบัติตามได้จริงและมีผลประเสริฐ

 

                               “เอ!..ไม่เลวนี่  ความจริงคุณจำได้ออกแม่นยำและก็เป็นคำอธิบายชัดเจนอยู่แล้วนี่นา ว่าพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านั้นต้องเป็นพระที่มีความประพฤติปฏิบัติอย่างไร?” หลวงพ่อชมแต่พอข้าพเจ้าจะได้ปลื้มใจสักหน่อยก็ต้องชงัก  เพราะหลวงพ่อพูดต่อว่า “หรือเพราะคุณท่องจำมาแบบนกแก้วนกขุนทอง เลยไม่รู้ความหมาย?”

 

                               “เออ!..ดี รับมาตรงๆ อย่างนี้ฉันชอบ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าท่านปฏิบัติดี,ปฏิบัติตรง,ปฏิบัติควร,ปฏิบัติชอบ ตามที่คุณว่ามานั้นก็เพื่อมุ่งสู่เส้นทางของพระอริยเจ้านั่นเอง” หลวงพ่ออธิบาย

                                “พระอริยเจ้าเป็นอย่างไรครับหลวงพ่อ” ข้าพเจ้ารีบถาม

                                “อ้าว! พระอริยเจ้าก็คือพระที่มุ่งทางโลกุตระ มิใช่ทางโลกียไงล่ะ ” หลวงพ่อตอบเรื่อยๆแต่ยิ่งทำให้ข้าพเจ้างงหนักเข้าไปอีก จึงถามว่า

                                “แล้วโลกียะกับโลกุตระ เป็นยังไงครับหลวงพ่อ

 

                                “การที่ผุ้ใดทำอะไรสักอย่างแล้วหวังลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นการตอบแทนแล้ว เขายังเรียกว่าโลกียชนอยู่ ดังนั้นบรรพชิตท่านได้ แม้มีสมณศักดิ์สูงส่งแค่ไหน หากยังชื่นชมในลาภสักการะก็ดี ยังหลงในสมณศักดิ์ชั้นยศที่รับได้ก็ดี หรือหลงใหลในคำสรรเสริญเยินยอของสานุศิษย์ก็ดี หรือหลงใหลสุขที่พำนักที่อบอวลไปด้วยไอเย็นของเครื่องปรับอากาศ  หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆก็ดี จะยังจัดอยู่ในประเภทโลกียชนนะ  หากนุ่งผ้าเหลืองก็ยังคงเป็นสมมติสงฆ์ แต่ถ้าทำอะไรแล้วไม่หวัง ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นสิ่งตอบแทนแล้ว นั่นแหละเขาเรียกว่าเป็นโลกุตร และการมุ่งสู่โลกุตรนี่แหละจะเป็นหนทางที่หลุดพ้นกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรมทั้งหลายแหล่ เป็นพระอริยเจ้าได้ และพระอริยเจ้าที่ว่านี้ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์นั่นเอง เข้าใจหรือยังไงล่ะ?? ” หลวงพ่ออิบายแล้วถามอย่างอารมณ์ดี

 

                             “พอเข้าใจครับ เราจะรู้ได้ว่าท่านองค์ใดน่าจะเป็นสมมติสงฆ์หรือองค์ใดจะเป็นอริยสงฆ์  ก็ต้องดูที่ความประพฤติและการปฏิบัติของแต่ละท่าน ใช่ไหมครับ ?” ข้าพเจ้าตอบด้วยความภาคภูมิใจ

 

                             “เออ!..ใช่ เก่งเหมือนกันนี่ จำไว้นะว่าดูกันที่ปฏิปทาของแต่ละท่านนะ” หลวงพ่อชมแล้วย้ำเพิ่มเติม

 

                             “ครับหลวงพ่อ แต่ผมจะรู้ได้อย่างไรว่าพระอริยสงฆ์องค์ใดท่านเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ล่ะครับ” ข้าพเจ้ารีบถามต่อเพราะเห็นหลวงพ่อเมตตา

 

                              “อ้าว!...จะรู้ได้ก็ต้องเอาสังโยชน์ ๑๐ มาเป็นเครื่องมือวัดซิคุณ หลวงพ่อตอบอย่างเห็นเป็นเรื่องธรรมดา  แต่สำหรับข้าพเจ้ามันไม่ธรรมดาเลย เพราะคำว่าสังโยชน์ ๑๐ ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยได้ยินเลยจึงถามหลวงพ่อว่า “สังโยชน์ ๑๐ เป็นอย่างไรครับ หลวงพ่อ?”

                              “สังโยชน์ ๑๐ก็แปลว่า  กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดจิตใจให้ตกอยู่ในวัฏฏะมี ๑๐อย่างด้วยกัน”

คือ

  1. สักกายทิฏฐิ  เห็นว่า ร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา (คำว่าร่างกายนี้หมายถึง ขันธ์ 5)
  2. วิจิกิจฉา     ความลังเลสงสัย ในคุณพระรัตนตรัย  และสงสัยในผลการปฏิบัติว่าจะไม่มีผลจริง
  3. สีลัพพตปรามาส   รักษาศีลแบบลูบ ๆ คลำ ๆ ไม่รักษาศีลอย่างจริงจัง
  4. กามฉันทะ    มีจิตมั่วสุมหมกมุ่น ใคร่อยู่ในกามารมณ์
  5. พยาบาท    มีอารมณ์ผูกโกรธ จองล้างจองผลาญ
  6. รูปราคะ     ยึดมั่นถือมั่นในรูปฌาน  โดยยึดมั่นในรูปฌานเป็นคุณธรรมสูงสุดที่จะทำให้พ้นวัฎฎะ
  7. อรูปราคะ    ยึดมั่นถือมั่นในอรูปฌาน คิดว่าเป็นคุณพิเศษที่ทำให้พ้นจากวัฎฎะ
  8. มานะ     มีอารมณ์ถือตัวถือตน ถือชั้นวรรณะเกินพอดี
  9. อุทธัจจะ    มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ครุ่นคิดอยู่ในอกุศล
  10. อวิชชา     มีความคิดเห็นว่า โลกามิสเป็นสมบัติที่ทรงสภาพ

                         กิเลสทั้ง ๑๐ประการนี่แหละท่านที่เรียกว่า “สังโยชน์ ๑๐”ละ เข้าใจไหม? จดทันไหม? แต่ความจริงไม่ต้องจดก็ได้ เพราะฉันจะเขียนไว้ให้ในคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน  หลวงพ่ออธิบาย

                          “ครับ  แต่สังโยชน์ ๑๐ จะเกี่ยวข้องกับพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ได้อย่างไรครับ?”  ข้าพเจ้าถาม

                           “อ้าว!..ถ้านักปฏิบัติ นักเจริญวิปัสสนาท่านใดกำจักกิเลสในสังโยชน์ ๑๐ สามข้อแรกได้ (ข้อ๑ถึงข้อ๓) ท่านว่าท่านผู้นั้นได้บรรลุ พระโสดาบัน และถ้าบรรเทาสังโยชน์ข้อที่ ๔และที่๕ลงได้ก็จะเป็นพระสกิทาคามี ถ้าตัดกิเลสในสังโยชน์ ๑๐ ได้ใน ๕ข้อแรก (ข้อ๑ถึงข้อ๕)ท่านว่าท่านผู้นั้นได้บรรลุพระอนาคามี และถ้าตัดกิเลสสังโยชน์ ๑๐ได้ทั้ง ๑๐ ข้อ ท่านว่าท่านผู้นั้นได้บรรลุ พระอรหันต์ ยังไงล่ะ” หลวงพ่ออธิบายอย่างเมตตา

 

                          “แหม!..ผมเสียดายจังครับหลวงพ่อ ที่ไม่ได้บวชเป็นพระ มิเช่นนั้นแล้วผมจะลองปฏิบัติเพื่อละสังโยชน์ ๑๐ กับเขาดูบ้าง” ข้าพเจ้าพูด

                          

“อ้าว !.. นี่คุณยังไม่เข้าใจถึงคำว่าพระเลยซินี่ คำว่า “พระโยคาวจร” นั้น ท่านหมายความรวมทั้งท่านที่บวชเป็นพระ และอุบาสก อุบาสิกานะ เพราะท่านใดก็ตามที่เริ่มเจริญสมถกรรมฐานและเจริญวิปัสสนากรรฐาน ท่านเรียกว่าพระทั้งสิ้นนะ  ทั้งนี้เพราะพระหมายถึงผู้ที่เริ่มเข้าถึงความประเสริฐ โยคาวจร  แปลว่า ผู้ที่ประกอบความเพียรนะ  รวมความแล้ว พระโยคาวจร  ก็คือท่านผู้มีความประพฤติประกอบความเพียร เพื่อให้ถึงความเป็นผู้ประเสริฐนะ ดังนั้นฆราวาสอย่าพวกคุณนี้หากเจริญพระกรรมฐานเมื่อใด ท่านเรียกว่า พระทันที ได้เปรียบกว่าท่านที่บวชเสียอีก เพราะท่านที่บวชแล้วเขายังไม่เรียกว่าพระนะ แต่เรียกว่าสมมติสงฆ์ เพราะเพียงแต่เอาตัวเข้าพวกเท่านั้น ยังมิได้เอาใจเข้าพวก ต่อเมื่อท่านที่บวชเริ่มปฏิบัติพระกรรมฐานเท่านั้นแหละ จึงเรียกว่า พระ และหากประกอบความเพียรเพื่อหวังบรรลุมรรคผลนิพพาน จึงจะเรียกว่าพระโยคาวจร ซึ่งถือว่าเป็นพระแท้นะเข้าใจหรือยังล่ะ?” หลวงพ่ออธิบาย

                           

“ถ้ายังงั้นฆารวาสอย่างผมก็มีสิทธิ์ปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผล เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์กับเขาได้ซิครับหลวงพ่อ” ข้าพเจ้าถามด้วยความอยากรู้อยากเห็น

 

                           “ใช่แล้ว  เป็นไปได้ทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นฆารวาสหากบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์แล้ว จะต้องตายภายใน๒๔ ชั่วโมงนะ” หลวงพ่อตอบ “ทำไมต้องตายด้วยล่ะครับ?” ข้าพเจ้าถามด้วยความสงสัย

 

                             “ตายเพื่อไปเสวยสุขในพระนิพพานน่ะ  เป็นสุดยอดของความดีในพระพุทธศาสนาทีเดียวนะคุณ และการที่ต้องตายก็เป็นเพราะจิตของพระอรหันต์นั้นบริสุทธิ์ผุดผ่อง เกินกว่าที่จะอยู่ในคราบของฆารวาสจะต้องเกลือกกลั้วกับโลกียชนและสิ่งแวดล้อมต่างๆซึ่งฆารวาสที่มีจิตเป็นพระอรหันต์  ไม่สามารถจะยอมรับได้อีกต่อไปแล้วนั่นเอง แต่ถ้าพระภิกษุสงฆ์ที่สำเร็จพระอรหันต์ ก็จะยังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ พอเข้าใจรึยังล่ะ?” หลวงพ่ออธิบายแล้วย้อนถามข้าพเจ้า

 

                             “เข้าใจแล้วครับ หลวงพ่อ” ข้าพเจ้าตอบด้วยความเคารพ

 

                               “เอาละ ในเมื่อเข้าใจแล้วว่า พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั้น  จะต้องเป็นผู้ที่มีความประพฤติประกอบความเพียรเพื่อหวังบรรลุมรรคผลนิพพาน ด้วยการละกิเลสในสังโยชน์ ๑๐ ไปทีละข้อ เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์เช่นนี้ คุณพอจะเคารพเทิดทูนในพระสงฆ์ได้หรือยังหลวงพ่อพูดแล้วถามยิ้มๆ

 

                                “ถ้าผมได้เข้าใจอย่างนี้แล้ว  ผมก็ต้องเคารพเทิดทูนในพระสงฆ์ได้อย่างไม่มีอะไรเคลือบแคลงสงสัยอีกต่อไปน่ะซิครับ ที่ผมไม่เคารพเพราะยังไม่มีใครเขาอิบายให้ผมฟังอย่างที่หลวงพ่ออธิบายมาก่อนนี่ครับ” ข้าพเจ้าตอบ  

                  

                                เป็นยังไงครับ! ท่านผู้อ่านที่รัก พอจะเข้าใจในพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าที่แท้จริง กระจ่างชัดขึ้นบ้างแล้วใช่ไหมครับ

 

 

คัดมาจากหนังสือสูแสงธรรม ของ พล.อ.ต. มนูญ ชมภูทีป

Visitors: 355,914