เกร็ดความรู้ต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนา1

 

 

ผู้ถาม :             “หลวงพ่อตัดกรรมได้ไหมคะ...?”

หลวงพ่อ  :      “ตัดได้ ไปหยิบมีดมาซิ อยากจะตัดก็กำมือเข้ามา”

ผู้ถาม  :            (หัวเราะ)

หลวงพ่อ  :      “ตัดกรรมนี่มันตัดไม่ได้หรอก กรรมที่เป็นกุศลก็ตัดไม่ได้ กรรมที่เป็นอกุศล

ก็ตัดไม่ได้ นี่พูดตามพระพุทธเจ้านะ แต่ว่าที่เราทำดีนี่คือสร้างกรรมดี ที่เป็นกุศลมากขึ้น หนีกรรมที่เป็นอกุศล คือ กรรมที่เป็นอกุศลมันมีอยู่ แต่เราสร้างกรรมดีที่เป็นกุศล กรรมที่เป็นอกุศลก็ตามช้าลง เราฝึกวิ่งหนีให้มันเร็วเข้าใช่ไหม...?”

ผู้ถาม  :            “อย่างนี้ก็ไม่หมดบาปน่ะซิคะ...?”

หลวงพ่อ :        “การจะทำให้หมดบาปน่ะไม่มีทางหรอก ในทางพระพุทธศาสนามีอยู่อย่าง

เดียว คือ ทำบุญหนีบาป ใช้กำลังบุญให้สูงขึ้น ความชั่วที่มันเป็นบาปกรรมอยู่มันก็ตามทันยากหน่อย ใช่ไหม...แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันก็สบาย ตัดกรรมจริง ๆ แต่ว่าเศษของกรรมยังมีอยู่บ้าง แต่กรรมก็ไม่สามารถจะดึงให้เราลงนรก เป็นเปรตหรืออสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานได้ แต่ถ้ามาเป็นมนุษย์ ถ้าเรามีโทษปาณาติบาต มันก็ทำให้เราป่วยบ้าง ถ้ามีโทษอทินนาทานอยู่ ก็ทำให้ของหาย ไฟไหม้ ขโมยลัก น้ำท่วม ลมพัด ถ้าเราเคยมีโทษกาเมสุมิจฉาจาร คนใต้บังคับบัญชาเราก็หัวดื้อไม่เชื่อฟัง ถ้าเราเคยมีโทษมุสาวาทพูดโกหกเขา เราพูดอะไรก็ไม่มีใครเชื่อ ถ้ากินเหล้าเมายามาก่อน ก็เป็นโรคประสาทบ้าง เป็นคนบ้าบ้าง มันก็แค่นี้ แต่ว่าถ้าเป็นพระโสดาบันแล้ว มันไม่ถึงบ้าแค่มึน ๆ ไปหน่อยนี่เป็นโทษจากเศษของกรรม”

ผู้ถาม  :            “ถ้าสร้างพระพุทธรูปปางนิพพาน จะหนีกรรมได้ไหมคะ...?”

หลวงพ่อ  :      “หนีกรรมได้ เป็นการสร้างกำลังความดีให้สูงเข้าไว้”

ผู้ถาม  :            “ยังงั้นเราก็สร้างพระมาก ๆ ซิคะ...?”

หลวงพ่อ :       “ประเดี๋ยววัดไม่มีที่เก็บอีก มีกรรมอีก ต้องไปสร้างตึกให้พระอยู่อีก เอาไหม...?”

ผู้ถาม  :            (หัวเราะ)

หลวงพ่อ :       “สร้างพระมาก ๆ เป็นพุทธบูชา เป็นพุทธานุสติไม่ดีเรอะ...ในกรรมฐาน ๔๐

กอง ท่านบอกว่า กำลังพุทธานุสตินี่เป็นเหตุให้เข้าถึงนิพพานได้ง่ายที่สุดง่ายกว่ากองอื่นที่สุด และรวดเร็วกว่าอย่างอื่น”

ผู้ถาม  :            “เคยได้ยินหลวงพ่อบอกว่า คนที่เกิดมาในโลกนี้แบ่งเป็น ๔ ประเภท แล้วพวกที่ปฏิภาณดี จัดอยู่ในประเภทไหนคะ...?”

หลวงพ่อ  :       “พวกที่มีปฏิภาณดีอยู่ในพวก อุคฆฏิตัญญู พูดแต่เพียงหัวข้อก็เข้าใจเลย ส่วนอีก ๓ พวกคือ

                        วิปจิตัญญู พวกนี้พูดย่อ ๆ ยังไม่เข้าใจ ต้องขยายต้องอธิบายหน่อยจึงจะเข้าใจ

เนยยะ พวกนี้หน้าหนานิด ๆ ต้องตีแรง ๆ หน่อยจึงเจ็บ สอนได้แค่กามาวจรสวรรค์

                        ปทปรมะ  พวกนี้พูดยังไง ๆ ก็ไม่รู้เรื่อง แต่ประเภทพูดครั้งแรกแล้วไม่รู้เรื่อง จะถือว่าเป็นพวกปทปรมะไม่ได้นะ คือว่าต้องขึ้นอยู่กับวาระจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าตกอยู่ในวาระของอกุศลพระพุทธเจ้าท่านไม่สอน เมื่อเวลาที่กุศลให้ผลพระพุทธเจ้าจึงจะสอน ถ้าเชื้อเป็นปทปรมะจริง ๆ ไม่มีทางไปนิพพาน พอพูดมาก็กลัว เพราะไม่เข้าใจ”

ผู้ถาม  :            “พวกที่มีปฏิภารดีนี่ต้องเป็นคนฉลาดใช่ไหมคะ...?”

หลวงพ่อ :       “ไอ้ตัวปฏิภาณนี่คือความฉลาด พวกปฏิภาณนี่มีปัญญาพิเศษเกินกว่าปัญญาธรรมดา มันมีความว่องไวมากกว่า ปัญญาธรรมดาต้องใช้อารมณ์ใคร่ครวญ ส่วนปฏิภาณนี่ไม่ต้องใช้ปั๊บเดียวได้เลย เขาพูดมาสามารถแก้ปัญหาได้ทันที จึงเรียกว่าปฏิภาณ”

ผู้ถาม  :            “หลวงพ่อครับ คนเราเกิดมานี่นะครับ ต้องสร้างทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว อันนี้เป็นเพราะว่าเนื่องจากผลของกรรมเก่า หรือว่าเราสร้างขึ้นใหม่ครับ...?

หลวงพ่อ  :       “ทั้งใหม่ทั้งเก่า คือกรรมเก่าบางอย่างมันให้ผลในชาติปัจจุบัน บางอย่างให้ผลในชาติต่อไป บางอย่างอีกหลายชาติจึงให้ผล เราเกิดมานี่เราทำทั้งกรรมดีอย่างเดียวหรือเปล่าล่ะ เคยทำความชั่วบ้างไหม...?”

ผู้ถาม  :            “เคยครับ”

หลวงพ่อ  :       “ทีนี้ผลที่รับนี่ไม่แน่ ฉันตอบไม่ได้ว่าผลที่ไดรับเป็นกรรมใหม่หรือกรรมเก่า”

ผู้ถาม  :            “สิ่งที่เรากระทำลงไปเป็นสิ่งไม่ดี เป็นกรรมเก่าที่เราทำไม่ดี หรือว่าเราสร้างของเราใหม่ครับ...?”

หลวงพ่อ  :      “บางทีเราก็สร้างใหม่ เพราะเราขยันสร้าง อย่าไปโทษเก่าเสมอไปเลย

โทษปัจจับันดีกว่า คือทุกสิ่งทุกอย่างโทษปัจจุบันไว้ดีกว่า ป้องกันตัวไว้ บางอย่างก็อาศัยกรรมเก่าที่เราทำมา มันให้ผลจึงมีความเห็นผิด บางอย่างสิ่งแวดล้อมมันเกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้เราเห็นผิด ก็คิดว่าไอ้กรรมเก่ามันแค่ไหนก็ช่างมัน ไม่สนใจ ทำกรรมใหม่ให้ดีไว้เสมอ ๆ ดีกว่าอย่าไปคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว กรรมเก่ามันจะเลวมันจะชั่วก็ช่ามัน

            อย่าลืมว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ได้เพราะอาศัยความดีหลายอย่าง

๑.     เราเคยมีศีล ๕ บริสุทธิ์ หรือกรรมบถ ๑๐ บริสุทธิ์ เราจึงเป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ได้

๒.    เรามีทรัพย์สินเพราะเราเคยให้ทาน

๓.    เรามีปัญญาคิดอะไรได้บ้าง เพราะเราเคยอบรมในด้านความดี ในด้านธรรมมาก่อน

เราต้องคำนึงของ ๓ อย่างนี้ เพราะมันเป็นความดีเดิม ในเมื่อเราเป็นมนุษย์ได้แล้ว เราจะกลับไปเป็นสัตว์นรกอีกไหม...ถ้าเราทำลายศีลข้อใดข้อหนึ่ง นั่นแสดงว่ามันจะกลับไปนรกอีก

ประการที่ ๒ เราเกิดมาเป็นคนตระหนี่ เป็นคนดีพอกลับไปเราก็ต้องกลับไปแก้ผ้าใหม่

และประการที่ ๓ เราทำลายสติสัมปชัญญะของเราให้มันเสื่อมทรามลง เป็นการทำลายของเดิมที่เราก่อมาแล้วให้สลายตัวไป ถ้าเราคิดอย่างนี้แล้วจะดีขึ้น

            ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงสั่งสอน อย่าตามนึกถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว และจงอย่าคำนึงถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง พยายามรักษาความดีปัจจุบัน ถ้าปัจจุบันของเราดี เพราะอารมณ์ของเราจริง ๆ ไม่มีอดีตไม่มีอนาคตหรอก มันมีแต่ปัจจุบัน คือให้มีความรู้สึกว่าเดี่ยวนี้อยู่เสมอ

 คืออารมณ์ทำเป็นอาจิณกรรม ถึงแม้ว่าครั้งละเล็กละน้อยมันก็ชิน อาจิณกรรมถ้าเป็นฝ่ายอกุศล มันมีโทษถึงอนันตริยกรรมได้ แต่ถ้าอาจิณกรรมฝ่ายกุศลมันก็มีผลมหันต์เหมือนกัน

ถ้าเราไม่ตามนึกถึงมัน เรามุ่งหน้าทำแต่ความดี อันดับเลวที่สุดถ้าเราเป็นพระโสดาบัน กรรมที่ไม่ดีนั้นจะให้ผลลงอบายภูมิไม่ได้ มันจะให้ผลแต่เพียงว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ไหม่เท่านั้น มันตัดอบายภูมิ ใช่ไหม...ได้กำไรตั้งเยอะ มีไม่ดีเป็นอรหันต์เสียชาตินี้หมดเรื่องหมดราวไปเลย เพราะมันเหลือแค่เศษกรรม ใช่ไหม...ดอกเบี้ยมันนิดหน่อย เอาอย่างนั้นนะ

  จำไว้แค่นี้ก็แล้วกันนะ เอาเวลานี้ให้มันดีอยู่เสมอ อย่าไปเอาเวลาอื่นนะ เวลาปัจจุบันนี้เมื่อความรู้สึกยังมีอยู่ให้จิตมันว่างจากอารมณ์ที่เป็นอกุศล ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ให้ทรงอนุสสติ อนุสสติ แปลว่า การตามนึกถึง คือให้นึกถึงความดีอยู่เสมอ อนุสสติก็มี พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ มรณานุสสติ กายคตานุสสติ อุปสมานุสสติ และอานาปานุสสติ

          ถ้าเราตามนึกถึงอนุสสติอย่างใดอย่างหนึ่ง มันเป็นเรื่องของความดี ทีนี้ความดีที่เราจะไปชำระหนี้ความชั่วเดิมให้หมดไป ถ้าจะไปนิพพานรับรองไม่ได้ไปแน่ เพราะอะไร เกิดทุกชาติก็สร้างเรื่อย เสริมความชั่วอยู่เสมอ ทีนี้ทางพระพุทธศาสนาเราไม่มีการล้างบาป แต่ว่าในทางพุทธศาสนาให้สร้างกำลังจิตในด้านความดีให้มีกำลังสูงเพื่อหนีบาปให้พ้นไป ถ้าจิตติดด้านความดีฝ่ายสูงมันก็มี ๔ ขั้น คือ

๑.     พระโสดาบัน

๒.    พระสกิทาคามี

๓.    พระอนาคามี

๔.    พระอรหันต์

ผู้ถาม :             “พระอรหันต์ที่ไปนิพพานท่านหมดกรรมที่เป็นอกุศลไหมครับ...?”

หลวงพ่อ  :      “ไม่มีพระองค์ไหนหมดกรรมที่เป็นอกุศล ที่เป็นอกุศลของท่านถ้าจะเขียน

ชื่อใส่ปี๊บก็ไม่หมด ที่ท่านไปนิพพานได้ ไม่ใช่หมดกรรมที่เป็นอกุศลนะ แต่ทว่าสร้างอารมณ์ที่เป็นกุศลละเอียด จนกระทั่งอกุศลมันตามไม่ทัน ถ้ารอใช้กรรมที่เป็นอกุศลน่ะไม่มีทาง เราลงนรกเกือบทุกชาติ ตายแล้วลงนรกขึ้นมาเป็นมนุษย์ บี้มดบ้างบี้อะไรต่ออะไรบ้างลงไปใหม่ ใช้หนี้หมดก็ขึ้นมาบี้อีกก็ลงใหม่ ไม่ต้องไปใหนล่ะ ใช่ไหม...สร้างใหม่ตลอดไอ้เก่าก็ใช้หนี้ไม่หมด ไปไหม...จะไปฝากพระยายมให้ เวลานี้ท่านเปิดบัญชีรับสมัครไม่จำกัดนะ”

ผู้ถาม :             (หัวเราะ) “ไม่ละครับ”

ผู้ถาม  :            “หลวงพ่อคะ หนูเคยอ่านเรื่องกฏของกรรมเรื่องหนึ่ง คือนายแดงเป็นคน

เนรคุณพ่อแม่ และเคยทุบตีพ่อแม่ พอแกมีลูกออกมาลูกก็มีอาการเหมือนกับพ่อค่ะ คงจะเป็นกฏของกรรมของนายแดง แต่หนูคิดว่าลูกของนายแดงจะต้องมีบาปเหมือนกันใช่ไหมคะ?”

หลวงพ่อ  :       “ก็ไม่ใช่บาป”

ผู้ถาม  :            “แล้วกฏของกรรมจะบันดาลให้เป็นอย่างไรคะ?”

หลวงพ่อ  :      “นายแดงเป็นคนอกตัญญูไม่รู้คุณพ่อแม่ ตีพ่อตีแม่นายแดงก็เป็นคนมีจิตเลว

ฉะนั้นเด็กที่จะต้องมาเกิดด้วยก็ต้องเป็นเด็กเลว ๆ มาเกิด คือว่าเด็กที่จะมาเกิดร่วมกันส่วนใหญ่จะต้องมีศรัทธาเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน เสมอกับพ่อแม่ จึงจะสู่ครรภ์เข้าในตระกูลนั้นได้

            แต่ว่าไอ้กรรมที่เป็นอกุศลย่อมให้ผลต่างวาระ บางทีตอนเป็นเด็ก ๆ แกดี ตอนโตอาจเลวไปชั่วขณะหนึ่งก็ได้ หมายความว่ากรรมที่เป็นอกุศลเดิมเข้ามาสิงจิตในช่วงกลางวัน และในช่วงหนึ่งของชีวิต เขาอาจจะมีดีในตอนปลายมือก็ได้ เพราะว่าตอนต้น ๆ พ่อเลวแม่เลว แต่เขาอาจมีดีอยู่เป็นเพราะช่วงของกรรมเขา เกิดมาในช่วงนั้น กรรมที่เป็นอกุศล มันให้ผลก่อน แต่ว่ากรรมที่เป็นกุศลคือความดีมันอาจจะมาทีหลัง”

ผู้ถาม  :            “อย่างนั้นพระองคุลีมารที่ต้องเป็นโจรฆ่าคนเอานิ้วมือ ก็คงเป็นกฏของกรรมใช่ไหมคะ...?”

หลวงพ่อ  :      “อันนี้เป็นกฏของกรรม คือถอยหลังจากชาตินี้ไป ๑ ชาติ ก่อนที่จะเกิดมาเป็น

คน ท่านเกิดเป็นควายป่า ภายหลังถูกฆ่า คนทั้งหมดมีพันคนเศษที่ร่วมกันตีให้ตาย พอดีลงไปแล้วก่อนจะสิ้นใจตายแกก็ลืมตาดู “ไอ้พวกนี้มันมาก กูคนเดียวมึงรุมฆ่ากู ถ้าชาติหน้ามีจริงกูขอฆ่ามึงบ้าง” นี่เป็นเวรที่จองกันไว้

            พอเกิดมาอีกชาติหนึ่ง พ่อตั้งชื่อให้ว่า “อหิงสกกุมาร” แปลว่ากุมารผู้ไม่เบียดเบียน พอเกิดมาแล้วสติปัญญาดี ท่านเป็นคนดีมาก ต่อมาพ่อส่งไปเรียนศิลปวิทยา ภายหลังเพราะความดีของท่าน ถูกลูกศิษย์ด้วยกันกลั่นแกล้ง ยุยงให้อาจารย์ออกอุบายให้ไปเรียน “วิษณุมนต์” แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องยกครูก่อน โดยจะต้องฆ่าคนให้ได้ถึงพันคนจึงจะเรียนได้

            ท่านก็เลยตกลงยกครูโดยการไล่ฆ่าคน ฆ่าได้ ๑ คน ก็เอานิ้ว ๑ นิ้ว แต่ว่าคู่ปรับยังมีอีกคนเดียว ถ้าได้อีกนิ้วเดียวก็ครบคู่ปรับพอดีและคู่ปรับที่จะต้องฆ่าก็คือแม่

            สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบว่า ถ้าอหิสกกุมารฆ่าแม่จัดเป็นอนันตริยกรรม มรรคผลจะไม่ได้เลย ท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต้องการว่าคนที่จะดีก็ขอให้ดีต่อไป ไม่ให้ความชั่วเข้ามาทับถม จึงเสด็จไปโปรด

            เพราะกรรมที่เป็นกุศลเดิมให้ผล ท่านจึงรู้สึกตัววิ่งเข้าไปกราบพระพุทธเจ้า ภายหลังท่านก็ขอบวชแล้วก็ได้เป็นอรหันต์”

ผู้ถาม  :            “หลวงพ่อคะ ยังมีอีกเรื่องหนึ่งค่ะ บัณฑิตผู้นี้เป็นผู้พิพากษาค่ะ ก็ตัดสินคดี

เกี่ยวกับศีลข้อ ๓ นี่ค่ะ ก็ปล่อยคนที่เป็นชู้ไป ภรรยาก็เลยโกรธ บอกว่าตัดสินไม่ยุติธรรม ด่าว่าใหญ่เลย ตัวสามีก็เลยโมโห พูดถึงความหลังขึ้นมาว่า แล้วแกล่ะคนดีเรอะ เขาพูดถึงคืนวันนั้น ภรรยาเสียใจก็เลยผูกคอตายอยากจะถามหลวงพ่อว่า บัณฑิตผู้นี้จะต้องไปใช้เวรภรรยาในสภาพอย่างไรคะ...?”

หลวงพ่อ :       “ก็ภรรยาเขาผูกคอตายเอง นั่นก็เป็นกฏของกรรมของเขา”

ผู้ถาม :             “แต่มันเป็นคำพูดที่รุนแรงนี่คะ ที่ทำให้ภรรยาเขาฆ่าตัวตาย”

หลวงพ่อ  :      “ความจริงไม่แรงหรอกถ้าคนธรรมดา นี่กฏของกรรมมันบังคับ ก็มีเรื่องอยู่

เรื่องหนึ่ง มีหญิงคนหนึ่งไปในเรือสำเภา เกิดอับปาง เขาก็หาคนที่เป็นกาลกิณี ก็ได้หญิงคนที่เป็นเมียของเจ้าของเรือเขาก็จับโยนลงน้ำไป

            เรื่องนี้มีพระไปพบเข้าก็มาถามพระพุทธเจ้าว่า เป็นเพราะกรรมอะไร พระพุทธเจ้าก็ทรงเล่าประวัติเดิมว่า หญิงคนนี้เดิมมีสามี ต่อมาสามีก็ตาย ตัวก็ตายก็มาเกิดใหม่ ตัวผู้หญิงคนนี้เขาสร้างความดีไว้มากกว่าสามี ก็มาเกิดเป็นลูกคหบดี แล้วสามีก็ไปเกิดเป็นสุนัข ไอ้อารมณ์เดิมที่มีความผูกพันก็เกิดมีความรักหวงแหน จะไปไหนก็ไปด้วย จนกระทั่งชาวบ้านเห็นผู้หญิงขึ้นมา มีหมาตามมาด้วย เขาก็ล้อ “เฮ้ย...พวกเรา...พรานสุนัขมาแล้ว” เธอก็อาย

            วันหนึ่งเธอไม่รู้จะทำไง เลยคิดจะฆ่าหมาตัวนี้โดยเอาห่วงคล้องคอ เอาไปถ่วงจับโยนน้ำ ไอ้กรรมตัวนี้นี่เอง มาเกิดชาติหลังหมาตัวนั้นมาเป็นนายสำเภา แกก็มาเป็นภรรยา พอเรือมันอับปางก็จับสลากกันว่าใครเป็นกาลกิณี จับกี่ครั้ง ๆ ก็ได้แก่เมีย จึงจำเป็นต้องจับโยนน้ำไป นี่กรรมมันสนองแบบนี้ เขาถือว่ากรรมสนองกรรม

            ฉะนั้นกฏของกรรมเดิมต้องทวน ก็ใช้อตีตังสญาณซิ นี่อ่านหนังสือแล้วก็ใช้อตีตังสญาณถอยหลังไป แต่ว่าอย่าไปถอยเองเหนื่อย ถามพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทุกองค์ท่านไม่ใช้กำลังของตัวเอง แต่พวกที่ใช้กำลังของตัวเองก็คือพวกฌานโลกีย์ ถ้าหากเป็นพระอริยะชั้นสูงเขาไม่ใช้เขารู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญู แปลว่า รู้ทุกอย่างถามท่านตรง ๆ แล้วขอดูภาพ อันนี้แม่นยำตรงตามเป็นจริง และการถามพระพุทธเจ้าก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี พระอรหันต์ก็ดี ทั้งหมดนี้ถามซ้ำไม่ได้ ถ้าหากท่านบอกมายังไงก็ต้องเชื่อตามนั้น ไอ้โลกที่จะพูดกันไม่ค่อยรู้ประสา มีโลกเดียวเท่านั้น โลกมนุษย์ ใช่ไหม...

ผู้ถาม  :            “ค่ะ เรื่องกฏของกรรมดิฉันเชื่อ และก็ได้นิทานเรื่องนี้แหละ เอาไปเล่าให้กับคนที่มีปัญหาอย่างนี้ฟัง รู้สึกว่าพอเขาฟังแล้ว ทำให้ใจดีขึ้นมากมาย แต่ตัวเองกลับมากลัวเรื่องกรรมพัวพัน”

หลวงพ่อ  :      “ไม่เป็นไรหรอก มันขึ้นอยู่ที่กฏของกรรม อย่างพระโมคคัลลาน์ ท่านเป็น

คนดีจะตาย เกิดจากความเป็นเด็กก็เป็นคนดี จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ แต่พอมาเป็นพระอรหันต์บั้นปลายของชีวิตต้องถูกทุบ นี่ท่านก็ไม่พ้นกฏของกรรม กรรมอะไร...เมื่อเกิดชาติที่แล้วนั้นท่านทุบพ่อแม่ แต่ไม่ถึงตาย ตายแล้วท่านไปเสวยผลในอเวจี เมื่อท่านใกล้จะนิพพานเศษกรรมตัวนี้ก็มาสนอง โจรมาล้อม ๒ ครั้ง ท่านหนีไป พอมาล้อมครั้งที่สาม ท่านก็ทราบกฏของกรรมเดิมว่า เมื่อเกิดชาติที่แล้ว เราทุบพ่อแม่แต่ไม่ถึงตาย ฉะนั้นไอ้กรรมตัวนี้มันจะมาสนองก็ยอมรับมัน ดูซิว่าท่านเป็นอรหันต์ที่มีฤทธิ์มากพระพุทธเจ้าท่านยกย่องก็ยังไม่พ้น”

ผู้ถาม  :            “ต่อไปนี้ไม่กล้วแล้วค่ะ เพราะถ้ากลัวแล้วเราคงไม่ยอมช่วยเหลือใครเลย ดิฉันขอกราบเรียนถามหลวงพ่อเท่านี้แหละค่ะ”

Visitors: 355,918