มาร์ส (Mars) ไพ่ Chariot

 

 

เทพเจ้าแห่งสงคราม

    เอริสพระโอรสองค์ใหญ่ของมหาเทพซีอุสกับพระนางเฮรา  เป็นเทพบุตรที่สง่างามและหยิ่งผยอง ใจร้อนวู่วาม และรักในการสงครามจึงแตกต่างกับพระอนุชาเฮเฟสทัสผู้สุขุมและมีเมตตาราวฟ้ากับดิน

 

 อิริส (Eris) เทพีแห่งความขัดแย้งทะเลาะวิวาท

    เทพบุตรเอริสมีเทพีแห่งการทะเลาะวิวาทเป็นคู่หู  เธอคือเทพธิดาอีริส (Eris) ผู้ดุร้ายน่าสะพรึงกลัวและมีจิตใจอันชั่วร้ายชอบการขัดแย้ง  (บางตำนานว่าเป็นน้องของเทพอีริส) ความทุกข์ของผู้อื่นคือความสุขของเทพธิดาองค์นี้  นางมีแอปเปิ้ลทองที่งดงามอยู่ผลหนึ่ง  มันคือแอปเปิ้ลแห่งความบาดหมางหรือความแตกสามัคคี (อันเป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้เกิดศึกเมืองทรอย)

    เมื่อเทพธิดาอีริสโยนแอปเปิ้ลแห่งความบาดหมางเข้าไปในกลุ่มผู้เป็นมิตรสหายกัน  มิตรภาพที่เคยมีมาแต่เก่าก่อนจะขาดสะบั้นลงทันที  เพราะใครๆก็ต้องการแอปเปิ้ลทองคำผลนี้  หากโยนเข้าไปในหมู่ทหารระหว่างสองเมืองสงครามจะเกิดขึ้นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง  ครั้นเมื่อได้ยินเสียงอาวุธกระทบกัน เทพบุตรเอริสจะแย้มพระโอษฐ์ด้วยความพอพระทัย  ทรงคว้าอาวุธและหมวกเหล็กกระโจนขึ้นรถศึกขับตะลุยเข้าสู่สนามรบอย่างคึกคะนอง  พระองค์ไม่สนในว่าฝ่ายใดจะชนะหรือแพ้  แต่จะช่วยให้การนองเลือด ความเจ็บปวดและสูญเสีย ดำเนินไปอย่างดุเดือด  เทพบุตรเอริสกับเทพธิดาอีริสจึงถือเป็นเทพอันธพาลของกรีก

    บางครั้งเทพบุตรเอริสพลาดพลั้งได้รับบาดเจ็บจากการรบ  พระองค์จะส่งเสียงร้องโอดครวญได้ยินไปไกลหลายไมล์  แม้จะเนอมตะแต่กลับเป็นเทพเจ้าที่พระทัยเสาะ เมื่อเกิดบาดแผลจะรีบกลับมาขอให้พระบิดาชโลมด้วยขี้ผึ้งทิพย์เพื่อประสานรอยแผล

    มหาเทพซีอุสได้ตรัสสั่งสอนทุกครั้ง  แต่เทพบุตรเอริสไม่เคยเชื่อฟังยังคงชื่นชอบสงครามและการทะเลาะวิวาทเช่นเคย  เทพเจ้าทั้งหลายต่างรังเกียจและชิงชังเทพบุตรเอริส  จะมีแต่เทพธิดาวีนัสเพียงองค์เดียวเท่านั้นที่ทรงชื่นชม  สำหรับมนุษย์ที่ยกย่องเทพองค์นี้เห็นจะมีแต่ชาวโรมันผู้ชอบการสงครามเท่านั้น ในอดีตชาวโรมันได้ยกย่องให้เทพบุตรเอริสเป็นพระบิดาของ โรมิวลัส (Romulus) ผู้สร้างกรุงโรม

 

เทพบุตรเอริสกับเทพธิดาวีนัส

    เทพเอริสหรือมาร์สผู้งามสง่า (แต่จิตใจชั่วร้าย) กับเทพธิดาวีนัสผู้เลอโฉม ได้มีจิตปฏิสัมพัทธ์ซึ่งกันและกัน และได้แอบลักลอบร่วมอภิรมย์กันโดยไม่มีเทพเจ้าองค์ใดล่วงรู้  ครั้นเมื่อทราบว่าบรรดาเทพเจ้าเริ่มระแคะระคายและคอยจับตาดูอยู่  ทั้งสองจึงแอบพบกันเฉพาะในยามราตรีอันมืดมิด

 

ตำนานไก่ขันยามรุ่งอรุณ

    เพื่อไม่ให้ความลับถูกเปิดเผย  เทพบุตรเอริสได้ให้หนุ่มน้อยผู้หนึ่งนามว่า อเล็กไทรออน (Alectryon) เป็นยามคอยปลุกก่อนรุ่งอรุณ เพื่อคู่ชู้ทั้งสองจะได้แยกจากกันก่อนที่อะพอลโล หรือเทพเจ้าแห่งแสงสว่างจะส่องสู่ฟากฟ้า

    แต่แล้ววันหนึ่งยามหนุ่มเกิดเผลอหลับจนรุ่งเช้า  เทพอะพอลโลพบเห็นภาพเทพบุตรเอริสและเทพธิดาวีนัสนอนหลับอยู่ด้วยกัน  จึงนำความไปบอกเทพวิศวกรรมเฮเฟสทัสหรือวัลคันพระสวามีของเทพธิดาวีนัส

    เทพวิศวกรรมได้สร้างร่างแหวิเศษเตรียมไว้  เมื่อสบโอกาสจึงนำไปครอบสองชู้รักคือเทพเอริสกับเทพธิดาวีนัสเอาไว้เพื่อประจานให้เทพทั้งปวงได้เยาะเย้ยถากถาง เทพบุตรเอริสได้รับความอับอายและอดสู  จึงสาปอเล็กไทรออนให้กลายเป็นไก่มีหน้าที่ส่งเสียงขันยามใกล้รุ่งเพื่อปลุกมนุษย์ให้ตื่นมาจากหลับใหล  ตำนานเล่าต่อว่าไก่ตัวผู้บนโลกทุกตัวสืบเชื้อสายมาจากไก่หนุ่มตัวนี้

 

โอรสธิดาของเทพบุตรเอริส กับ เทพธิดาวีนัส

    เทพบุตรมาร์ส กับ เทพธิดาวีนัส มีโอรส (หลานของเทพซีอุส) ด้วยกันสององค์ และธิดาองค์หนึ่ง รววม 3 องค์ เรียงลำดับได้แก่

  1. อีรอส (Eros) หรือ คิวปิด (Cupid) เทพเจ้าแห่งความรัก หรือกามเทพ
  2. แอนทีรอส (Anteros) เทพผู้บันดาลให้เกิดความรักตอบ
  3. เฮอร์ไมโอนี (Hermione) หรือ ฮาร์โมเนีย (Harmonia)

    เรื่องราวพิศวาสของเทพธิดาวีนัส  ใช่จะมีแต่เทพบุตรมาร์สก็หาไม่ ยังมีกับนายพรานหนุ่มนามว่า อโดนิส (Adonis) อีกด้วย

    อีรอสหรือคิวปิดมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับเทพธิดาวีนัสผู้เป็นพระมารดาผู้เป็นพระมารดาและเทพองค์อื่นอีกมากมาย ส่วนเทพธิดาเฮอร์ไมโอนี มีรายละเอียดอยู่ในประวัติของเทพบุตรไดโอนิซัส (Dionysus)  หรือ แบคคัส (Bacchus) เทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่น 

 

อีรอส (Eros) หรือ คิวปิด (Cupid)

เทพเจ้าแห่งความรัก (กามเทพ)

    เทพบุตรคิวปิดเป็นโอรสของเทพเอริสหรือมาร์สกับเทพธิดาวีนัส  ในตำนานกล่าวไว้ว่า  นอกจากเทพบุตรอะพอลโลแล้ว เทพบุตรคิวปิดเป็นผุ้ที่มีรูปร่างลักษณะงดงามที่สุดในบรรดาเทพเจ้าทั้งหลาย  และเทพบุตรองค์นี้ยังได้ชื่อว่า “ติดแม่” มากที่สุดด้วย ทั้งนี้เพราะเทพธิดาวีนัสเป็นเทพีแห่งความรักผู้เลอโฉม ส่วนคิวปิดเป็นเทพบุตรแห่งกามเปรียบเสมือนความรักย่อมอยู่คู่กามหรือความใคร่

    บางตำนานเล่าว่า เทพบุตรองค์แรกที่เทพธดาวีนัสพิศวาสและร่วมอภิรมย์ด้วยคือเทพบุตรเอริสหรือมาร์ส  จนเกิดโอรสธิดาด้วยกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ซีอุสได้ยกเทพธิดาวีนัสให้เป็นพระชายาของเทพวิศวกรรมเฮเฟสทัส  หรือวัลคัน แต่เทพธิดาวีนัสมิได้ชื่นชมพระสวามีของพระองค์แต่ประการใด  จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าทั้งสองอยู่ร่วมกันเป็นสามีภรรยากันแต่เพียงในนามเท่านั้น  เพราะผู้ที่เทพธิดาวีนัสรักและชื่นชมคือเทพบุตรเอริสหรือมาร์ส

    แม้กระนั้นเทพวิศวกรรมเฮเฟสทัสก็มิได้ตั้งข้อรังเกียจเทพบุตรคิวปิดเลยแม้แต่น้อย กลับสร้างอาวุธอันทรงอานุภาพคือศรแห่งความรักให้ด้วยซ้ำไป

 

เทพบุตรแอนทีรอน (Anteros) เทพผู้บันดาลให้เกิดความรักตอบ

    ในระยะแรกเทพคิวปิดทรงเป็นเทพวัยเยาว์อยู่เป็นนิตย์  พระมารดาวีนัสทรงปรารภกับ เทพธิดาอาร์ทีมิส ผู้เป็นเทพีแห่งความยุติธรรมว่า  เหตุใดโอรสคิวปิดจึงไม่เจริญวัย ยังคงมีลักษณะเป็นกุมารอยู่เช่นเดิม เมื่อได้รับคำแนะนำว่าคงเพราะขาดเพื่อนเล่นแก้เหงา  เทพธิดาวีนัสจึงให้กำเนิดบุตรแอนทีรอสเพื่อให้เป็นเพื่อนเล่นกับคิวปิด  และภายหลังได้เป็นเทพบันดาลให้เกิดความรักตอบหลังจากผู้ใดถูกศรรักของคิวปิดกามเทพแล้ว  ผู้ที่ผู้นั้นหลงรักก็จะมีความรักตอบด้วยการบันดาลของเทพแอนทีรอส

    หลังจากมีเพื่อนเล่นที่ถูกพระทัย  เทพบุตรคิวปิดก็เจริญเติบโตแข็งแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว  แต่โดยทั่วไปจิตรกรมักวาดภาพของกามเทพคิวปิดอยู่ในเพศทารกหรือในลักษณะพระกุมาร ถือคันธนูแห่งความรัก โบยบินฉวัดเฉวียนไปด้วยปีกทั้งสองข้าง  คอยยิงศรรักปักหัวใจหนุ่มสาวตราบเท่าทุกวันนี้

 

คิวปิดกับชายาไซคิ (Psyche)

    กาลครั้งหนึ่ง กษัตริย์องค์หนึ่งของกรีกมีพระธิดา 3 องค์ล้วนสิริโฉมโสภาแต่พระธิดาองค์เล็กนามว่า เจ้าหญิงไซคิ (Psyche) นันมีความงามเกินกว่าหญิงใดในหล้า  เหนือกว่าความงามของพระนางทั้งสองรววมกันจนเป็นที่เลื่องลืมเฟื่องฟุ้ง  ทำให้ใครๆต่างหลงลืมการบูชาเทพธิดาวีนัสเทพีแห่งความรักผู้เลอโฉม  เป็นเหตุให้ศาลของพระนางเงียบเหงา  มีเพียงแท่นบูชาที่ว่างเปล่าหาผู้มาบวงสรวงมิได้  แม้แต่แขกต่างเมืองก็พากันเดินเลยผ่านไปเพราะมุ่งมั่นแต่จะชมความงามของเจ้าหญิงไซคิ (ในตำนานกล่าวว่านางมีปีกเหมือนผีเสื้อ)  สร้างความริษยาให้แก่เทพธิดาวีนัสยิ่งนัก

    มีหนทางเดียวที่จะทำให้ใครๆพากันเลิกลุ่มหลงในความงามของเจ้าหญิงไซคิได้นั่นคือการสั่งโอรสคิวปิดไปยิงศรกามเทพ ให้เจ้าหญิงไซคิหลงรักสัตว์อุบาทว์ทรลักษณ์สักตนหนึ่ง  แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตรเป็นไปในทางตรงข้าม  เพราะเมื่อได้รับบัญชาแกมขอร้องจากพระมารดาวีนัส  เทพบุตรคิวปิดรีบเสด็จไปยังอุทยานของพระมารดาซึ่งมีน้ำพุอยู่สองแอ่ง แอ่งหนึ่งเป็นน้ำพุหวานสำหรับบันดาลความชื่นบาน  ส่วนอีกแอ่งหนึ่งเป็นน้ำพุสำหรับบันดาลความขื่นขมระทมใจ เทพบุตรคิวปิดตักน้ำพุบรรจุแยกไว้ในคนโทสองใบ

    ครั้นเมื่อลอบเข้าไปในห้องที่เจ้าหญิงไซคิบรรทมเทพบุตรคิวปิดได้ประพรมน้ำแห่งความชื่นบานลงบนโอษฐ์ของเจ้าหญิง แล้วเอาปลายศรแห่งความรักสะกิดที่สีข้าง พลันเจ้าหญิงไซคิก็ตกพระทัยสะดุ้งตื่นและในบัดดลนั้นเองปลายศรก็สะกิดเอาสีข้างของเทพบุตรคิวปิดเข้าเช่นกัน  ทั้งสองจึงเกิดความรักเสน่หาซึ่งกันและกันด้วยอำนาจแห่งศรศักดิ์สิทธิ์  แม้ว่าเทพบุตรคิวปิดจะไม่ได้แสดงองค์ให้เจ้าหญิงไซคิได้เห็นก็ตาม

    เทพบุตรคิวปิดเปลี่ยนใจ  นำน้ำพุหวานในคนโทราดลงบนเรือนผมของเจ้าหญิง  ก่อนที่จะโผบินออกไปจากห้องบรรทม  ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีเจ้าชายหนุ่มจากเมืองใดคิดสู่ขอเจ้าหญิงไปเป็นชายา แม้จะหลงใหลชื่นชมในความงาม แต่ต่างกลับคิดว่าเจ้าหญิงอยู่สูงสุดเอื้อม   จนพระนางทั้งสองมีคู่ครองไปนานแล้ว ก็ยังไม่มีใครกล้ามาสู่ขอ  พระบิดาของเจ้าหญิงเข้าพระทัยว่าเป็นเพราะเทพเจ้าดลบันดาล  เนื่องจากพระองค์ทำความผิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้จึงไปขอคำพยากรณ์จากวิหารของเทพอะพอลโล  และได้รับคำทำนายว่าเป็นเพราะคู่ครองขององค์หญิงไซคิไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา  ดังนั้นพระบิดาพระมารดาจึงจัดขบวนแห่นำพระธิดาไซคิไปส่ง ณ ยอดขุนเขาแห่งหนึ่งตามที่ได้รับคำแนะนำ  ต่างรู้สึกทุกข์ระทมที่ต้องจากกันไปแต่ไม่อาจขัดขืนลิขิตสวรรค์ได้  เจ้าหญิงไซคิถึงกับยืนสะอื้นไห้เมื่อถูกนำมาปล่อยไว้ลำพัง

    เทพเซฟเฟอร์เจ้าแห่งลมตตะวันตก  ได้โอบอุ้มเจ้าหญิงไปยังสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งงดงามไปด้วยหมู่มวลพฤกษชาติ เมื่อตื่นขึ้นมาเจ้าหญิงได้พบน้ำพุและตำหนักหลังหนึ่ง  เมื่อเข้าไปภายในมีเสียงนางไม้กระซิบบอกว่าพวกนางคือบริวารคอยดูแลรับใช้  ครั้นยามราตรีคู่ครองของเจ้าหญิงได้มาร่วมอภิรมย์เสน่หาโดยไม่อาจมองเห็นรูปร่างหน้าตา

    ในเวลาต่อมาเมื่อเจ้าหญิงไซคิเชิญพระพี่นางทั้งสองมาเยือนตำหนัก  และได้รับคำยุยงว่าคู่ครองของนางคงจะมีรูปร่างอัปลักษณ์ควรจะแอบจุดไฟส่องดูยามที่พระสวามีหลับ  และในคืนนั้นเจ้าหญิงไซคิได้เห็นรูปลักษณ์อันสง่างามของเทพบุตรคิวปิดพร้อมด้วยปีกทั้งสองข้าง  เป็นเหตุให้เจ้าหญิงเกิดความหลงใหลเพลินชมจนไม่วางตาและเมื่อขยับเข้าไปดูใกล้ๆน้ำมันตะเกียงเกิดหยดลงต้องอังสา  (บ่า) เทพบุตรคิวปิดตื่นจากบรรทมตรัสว่า “ความรักจะดำเนินต่อไปได้อย่างไร หากเจ้าขาดความไว้วางใจในคู่รักของเจ้า” แล้วขยับปีกโบยบินจากไป

    เมื่อเจ้าหญิงไซคินำความบอกกับพระพี่นางทั้งสอง  ก็ได้รับคำปลอบประโลม แต่แท้ที่จริงแล้วพระพี่นางทั้งสองแอบซ่อนรอยยิ้มไว้ในใจ  ด้วยหมายว่าเทพบุตรคิวปิดอาจจะเปลี่ยนจเลือกนางทั้งสองคนใดคนหนึ่งเป็นคู่ครอง  จึงไปกระโจนลงจากยอดเขาแล้วเรียกให้เซฟเฟอร์เทพแห่งลมตะวันตกมารับไปสู่ตำหนักซึ่งเจ้าหญิงไซคิเคยให้มารับไป  แต่เทพแห่งลมตะวันตกไม่ได้รับคำสั่งจากเทพบุตรคิวปิดเหมือนครั้งแรกจึงนิ่งเฉย นางทั้งสองจึงพลัดตกเขาตาย

    ส่วนเจ้าหญิงไซคิเที่ยวซัดเซพเนจรตามหาพระสวามีไปจนได้พบกับแพน (Pan) เทพเจ้าแห่งคนเดินทาง  แม้เทพผู้มีขาเป็นขาแพะจะรู้สึกเห็นใจ  แต่ไม่อาจช่วยเหลือประการใดได้นอกจากคำปลอบใจ  ครั้นเมื่อมาถึงศาล เจ้าแม่ดีมีเทอร์ (Demeter)  เทพีผุ้ครองการเก็บเกี่ยว เจ้าหญิงเห็นว่าเครื่องมือต่างๆตกอยู่ระเกะระกะจึงเก็บรวบรวมจัดไว้เป็นหมวดหมู่  เทพธิดาดีทีเมอร์เกิดความเมตตาจึงแนะให้นางไปขออขมาโทษต่อเทพธิดาวีนัส

    เมื่อได้รับการบวงสรวง  เทพีแห่งความรักผุ้เลอโฉมทรงแย้มพระโอษฐ์อย่างภาคภูมิใจที่แม้แต่ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่างามกว่าหญิงใดในหล้ายังยอมสยบต่อพระองค์  กระนั้นก็ยังบัญชาให้เจ้าหญิงทรงกระทำภารกิจหลายอย่างเพื่อเป็นการไถ่โทษ  ซึ่งล้วนแล้วแต่มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถกระทำได้ เช่น การจำแนกเมล็ดพืชนานาชนิดที่ปะปนระคนกันอยู่ในฉางใหญ่ออกเป็นพวกๆให้เสร็จก่อนค่ำ

    เทพบุตรคิวปิดได้มีบัญชาให้ฝูงมดช่วยกันแยกแยะเมล็ดธัญพืชออกเป็นหมวดหมู่เพื่อเป็นการช่วยเหลือชายา  เมื่อพระมารดาวีนัสทรงทราบกลับยิ่งพิโรธใช้ให้เจ้าหญิงไซคิข้ามแม่น้ำไปถอนขนแกะทองคำตัวละ 1 เส้นมาถวาย  เทพประจำแม่น้ำสงสารได้กระซิบบอกความลับสั่งฝากไว้กับต้นอ้อว่า  เวลาเช้าถึงเที่ยงน้ำในแม่น้ำไหลเชี่ยวมีอันตรายและฝูงแกะทองคำต่างมีอารมณ์ฉุนเฉียวดุร้าย  ให้รอตอนเวลาเลยเที่ยงค่อยข้ามไปเพราะเป็นเวลาที่น้ำสงบนิ่งและจะได้พบขนแกะทองคำที่ติดอยู่ตามพุ่มไม้สามารถเก็บได้โดยง่าย

    เทพธิดาวีนัสยังใช้ให้เจ้าหญิงไซคิไปขอความงามของเทพธิดาเพอร์เซโฟนี (Persephone) ราชินีแห่งยมโลกมาถวาย  เจ้าหญิงไซคิได้ขึ้นไปบนหอสูงหมายจะกระโดดฆ่าตัวตายให้หมดเรื่องหมดราว  และคิดว่านี่เป็นวิธีไปสู่ยมโลกได้ดดยง่าย  แต่พลันมีเสียงหนึ่งกระซิบบอกเส้นทางไปสู่ยมโลกให้  โดยต้องลัดเลาะไปตามทางในถ้ำแห่งหนึ่ง  ข้ามแม่น้ำโดยเรือจ้างของแครอน  รวมทั้งบอกวิธีหลีกเลี่ยงเซอร์เบรัสสุนัขอสุรกาย 3 หัวที่เฝ้าประตูทางเข้าให้ด้วย  ทั้งกำชับไม่ให้กินผลไม้ใดๆยกเว้นอาหารที่ทำด้วยแป้ง  และในระหว่างทางกลับห้ามมิให้เปิดโถออกดู

    เจ้าหญิงไซคิปฏิบัติตามคำแนะนำทุกประการ  ยกเว้นข้อสุดท้ายเพราะคิดว่าเทพธอดาเพอร์เซโฟนีได้บรรจุความงามใส่ไว้จริงหรือเปล่า  และหากจริงน่าจะนำมาเสริมให้ตนงดงามมากขึ้น เมื่อเปิดออกปรากฏว่าภายในโถบรรจุไว้ด้วยความหลับจากยมโลก  เป็นเหตุให้เจ้าหญิงไซคิหลับใหลไม่ได้สติ

    เทพบุตรคิวปิดได้มาช่วยเก็บความหลับคืนเข้าไปในโถตามเดิม  แล้วใช้ศรสะกิดปลุกชายาไซคิตื่น  พร้อมชี้ให้เห็นความสอดรู้สอดเห็นอันทำให้เกิดความยุ่งยากทั้งในคราวที่แอบจุดเทียนลอบชมร่างพระสวามี  เจ้าหญิงจึงโถไปถวายเทพธิดาวีนัส  ส่วนเทพบุตรคิวปิดได้ไปทูลขอนน้ำอมฤตจากมหาเทพซีอุสเพื่อนำมาให้ชายาดื่ม  นับแต่นั้นมาทั้งสองก็ครองรักกันอย่างมีความสุขตราบชั่วนิรันดร์

ตำนานดอกอโดนิส  (Adonis) หรือ ดอกอะนีโมนิ (Anemone)

    ดังที่กล่าวไว้ในตอนท้ายของประวัติความเป็นมาแห่งเทพธิดาวีนัสแล้วว่านอกจากเทพบุตรเอริสหรือมาร์สผุ้สง่างาม  เทพีแห่งความรักผุ้เลอโฉมยังมีเรื่องเสน่หากับนายพรานหนุ่มผู้หนึ่งนามว่า อโดนิส (Adonis) อันเนื่องมาจากพิษศรแห่งความรักของโอรสคิวปิด ซึ่งเกิดขึ้นโดยมิได้ตั้งใจ

    เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่งขณะที่พระมารดาวีนัสทรงหยอกเย้าอยู่กับโอรสคิวปิด  นางเผลอไปถูกศรเข้าโดยบังเอิญ  ครั้นได้ยลโฉมนายพรานหนุ่มก็บังเกิดความรัปหลงใหล  แต่เนื่องจากเทพบุตรคิวปิดมิได้ยิงศรรักเข้าสู่ดวงใจของอโดนิส  เรื่องจึงกลายเป็นว่าเทพธิดาผู้เลอโฉมหลงรักนายพรานหนุ่มผู้เป็นมนุษย์เพียงข้างเดียว  นางเพียรเฝ้าตามอย่างห่วงใยและคอยตักเตือนมิให้พรานหนุ่มกระทำการล่าสัตว์ด้วยวิธีเสี่ยงต่ออันตราย  แต่อโดนิสหาได้รับฟังหรือสนใจไยดีแต่ประการใด

     ครั้งหนึ่งอโอนิสเกิดพลาดพลั้งถูกหมูป่าที่บาดเจ็บเพราะโดนไล่ล่าจนตรอกถลาเข้าขวิดจนล้มลงขาดใจตาย  เทพธิดาวีนัสทรงเทพยานเทียมหงส์ผ่านมาพบจึงกันแสงฟูมฟายโอดครวญ  และเนื่องจากไม่ต้องการให้วิญญาณชู้รักถูกนำไปสู่ยมโลก  เลยใช้เทวฤทธิ์บันดาลให้หยาดโลหิตของอโดนิสกลายเป็นบุปผชาติชนิดหนึ่งเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความโศกเศร้า  ดอกไม้นั้นมีสีแดงดังสีทับทิม เรียกกันว่า ดอกอโดนิส หรือ ดอกอะนีโมนิ

 

เทพธิดาวีนัสบันดาลให้รูปปั้นนางกัลละเทีย(Galatea) มีชีวิต

    เทพธิดาวีนัสเทพีแห่งความรักอย่างแท้จริง  นางได้ช่วยบันดาลให้หนุ่มสาวหลายคู่สมหวัง  ดังเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้

    ณ เกาะ ไซปรัส  อันเป็นเกาะหนึ่งที่มีศาลของเทพธิดาวีนัสซึ่งชาวเมืองนิยมทำการบวงสรวง  มีช่างปั้นฝีมือดีผู้หนึ่งชื่อว่า พิกเมเลียน (Pygmalion) เขาได้ปั้นรูปผู้หญิงที่มีความงามเลิศล้ำขึ้นมาและให้นามของนางว่า กัลละเทีย(Galatea) เนื่องจากนางมีรูปลักษณะเสมือนมนุษย์อย่างไม่ผิดเพี้ยน  พิกเมเลียนจึงเกิดความรักจนหลงใหล  ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยสนผุ้หญิงคนใดในโลก

    ช่างปั้นหนุ่มได้ทูลขอให้เทพธิดาวีนัสเนรมิตให้นางอันเป็นที่รักยิ่งมีชีวิตเลือดเนื้อขึ้นมา  และก็ได้ดังความประสงค์  เปลวไฟที่แท่นบูชาพุ่งขึ้นมาสามครั้งตามคำอธิษฐานเสี่ยงทาย  พิกเมเลียนดีใจอย่างหาที่เปรียบมิได้  เมื่อกลับมาถึงบ้านและบรรจงจูบอย่างทะนุถนอม  นางกัลละเทียก็กลับมีชีวิตเลือดเนื้อขึ้นมาเหมือนมนาย์ทุกประการ  ทั้งสองได้แต่งงานกันและให้กำเนิดบุตรผู้หนึ่งนามว่า เพฟอส (Paphos)

 

ตำนานเหตุที่ผลหม่อนมีสีแดงดั่งเลือด

    ยังมีตำนานเกี่ยวกับความรักที่เทพธิดาวีนัสได้ให้ความช่วยเหลืออีกเรื่องหนึ่งซึ่งแม้จะจบลงด้วยความเศร้าแต่ก็เป็นอุทาหรณ์ที่ดี

    ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  หนุ่มสาวคู่หนึ่งมีความรักต่อกันอย่างแท้จริง  ฝ่ายชายนั้นมีนามว่า พิรมัส (Pyramus)  ฝ่ายหญิงสาวนั้นมีนามว่า ธีสบี (Thisbe)  แต่พ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายกลับเป็นศัตรูคู่อาฆาตทั้งที่บ้านมีกำแพงชิดติดกัน  เทพธิดาวีนัสช่วยให้หนุ่มสาวได้มีโอกาสพลอดรักกันตรงรอยแตกของกำแพงบ้านนั้นเอง

    ครั้นเมื่อทั้งสองนัดไปพบกัน ณ นอกประตูเมืองตรงที่มีต้นหม่อน (ซึ่งในสมัยนั้นผลหม่อนยังมีสีขาว) ขึ้นอยู่  ธิสบีมาถึงนัดก่อน  แต่หล่อนโชคร้ายโดยสิงโตตัวหนึ่งไล่ล่า  แม้จะหนีรอดไปได้แต่เกิดทำผ้าคลุมหน้าหล่นไว้  พิรมัสมาพบผ้าคลุมหน้าของสาวรักมีรอยถูกสิงโตฟัดจนขาดไม่มีชิ้นดี  เข้าใจว่าธิสบีตกเป็นเหยื่อของสิงโตไปแล้วจึงชักมีดแทงตัวเองด้วยความเศร้าเสียใจ  ครั้นธิสบีย้อนมาหาคนรัก ณ จุดนัด พบร่างของพิรมัสนอนสิ้นใจอยู่นางก็แทงตัวตายตาม

    ศพของทั้งสองหนุ่มสาวผู้บูชาความรักขาดสติไตร่ตรองเคียงข้างกัน ณ ใต้ต้นหม่อน ซึ่งบัดนี้ผลของมันเคยขาวราวกับไข่มุกได้เปลี่ยนเป็นสีแดงเลือดนับแต่นั้นมา  เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจมิให้หนุ่มสาวที่กำลังอยู่ในห้วงแห่งความรักใจร้อนวู่วามเหมือนพิรมัสกับธิสมี

 

เทพธิดาวีนัส เทพีผู้ครองความมีลูกดก

(ตำนานนกกระสาคาบเหล็กหย่อนลงปล่องไฟ)

    ในสมัยโบราณเชื่อกันว่า  เทพธิดาวีนัสนอกจากเป็นเทพีแห่งความรักผู้เลอโฉมแล้ว  ยังเป็นเทพีครองความมีลูกดกอีกด้วย  ชาวกรีกและโรมันนับถือนกกระสาอันเป็นนกคู่บารมีของเทพธิดาวีนัส  โดยรับหน้าที่คาบห่อผ้าซึ่งภายในมีทารกไปมอบให้กับครอบครัวที่จะมีเด็กเกิด  หรือหากนกกระสาสองผัวเมียมาทำลังบนหลังคาบ้าน  ถือเป็นเครื่องหมายแสดงว่าเทพธิดาวีนัสโปรดให้ครอบครัวในบ้านนั้นมีลูกและจะประสบความรุ่งเรือง  ดังนั้นชาวยุโรปจะรู้สึกยินดีหากมีนกกระสามาทำรังบนหลังคาบ้าน

    เรื่องนี้เป็นตำนานที่แต่งขึ้นเพื่อตอบคำถามเด็กๆว่าพวกเขามาจากไหน  ตำนานนกกระสานำเด็กมามอบให้ครอบครัวที่จะให้กำเนิดทารก  โดยคาบมาหย่อนลงปล่องไฟ  จึงพอจะช่วยให้คำถามยากๆคลี่คลายในระดับหนึ่ง

 

แหล่งอ้างอิง

ธนากิต.  (2546).  ตำนานเทพเจ้าและวีรบุรุษกรีก-โรมัน.  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ปิรามิด. 

 Photo :www.topofart.com

Photo : c0ssette.tumblr.com

Visitors: 356,229