เกร็ดความรู้ต่างๆในพระพุทธศาสนา2

 

ผู้ถาม  :            “หลวงพ่อคะ วันที่หนูไปทำความสะอาดที่วัด หนูเห็นหญ้ามันรกก็เลยถอน อย่างนี้จะเป็นอาบัติไหมคะ...?”

หลวงพ่อ  :      “ฆราวาสถอนหญ้ามันเป็นอาบัติที่ใหนเล่า นั่นเป็นเรื่องของพระเขาจะมาแย่งอาชีพพระมันเกินไปละ ปัดโธ่เอ๊ย...”

ผู้ถาม  :            (หัวเราะ)

หลวงพ่อ  :       “พระที่เขาดายหญ้าเพื่อทำประโยชน์ยังไม่เป็นอาบัติเลย แต่ทำเล่นไม่ได้

ต้องการทำอย่างเดียวเพื่อให้ที่สะอาด ไม่ต้องการให้รกสถานที่ แต่ว่าทำเพื่อเล่นมันก็ถูกตามลีลาของพระ อย่างทำต้นหญ้าขาดหรือตั้งใจดึงเล่นให้ขาด เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานได้ ถ้าชาวบ้านไม่เกี่ยวนะ ชาวบ้านไม่เป็น ไม่บาป”

ผู้ถาม  :            “แล้วการดื่มนมล่ะคะ บางวัดบอกดื่มนมไม่ได้แต่บางวัดบอกดื่มได้”

หลวงพ่อ  :      “พระดื่มนี่ นมสด นมส้ม เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ดื่มได้และก็สงเคราะห์เป็นนมข้น นมสด นมใสได้ ในหลักมหาปเทสอย่าถือส่งเดชไปนะ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดในพระวินัย”

ผู้ถาม  :            “การรักษาศีล ๘ นมถั่วเหลือง ดื่มได้ไหมคะ...?”

หลวงพ่อ  :      “นมถั่วเหลืองได้ ถ้าเขาคั้นแล้ว เขากรองแล้วใช้ได้ ในพระวินัยพระพุทธเจ้า

ท่านอนุญาตให้พระฉันได้ ๘ อย่าง เรียกว่า น้ำอัฏฐบาน  คือ น้ำผลไม้ มี น้ำมะม่วง น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่ น้ำเหง้าอุบล น้ำลูกจันทน์ หรือองุ่น น้ำกล้วยไม่มีเม็ด น้ำมะซาง แต่ว่า ผลไม้นั้นต้องไม่เท่าส้มโอ ตั้งแต่ผลส้มโอขึ้นไปจัดเป็นมหาผล ดื่มไม่ได้ อย่างมะพร้าวอ่อน ถึงกินน้ำก็ไม่ได้ อันนี้ท่านตรัสอนุญาตไว้ ๘ อย่าง

            ต่อมาในหลักมหาปเทสท่านบอกว่า ถ้าอะไรไม่ขัดต่อพระธรรมวินัยที่เราตรัสไว้ คือ ผลไม้ต่าง ๆ เอามาคั้นหรือกรองก็ฉันได้ เราต้องดูในวินัยท่านตรัสไว้ตรง

            เมื่อตรัสไว้ตรงแล้วก็ยังมีสิ่งประกอบ คือว่า “ในเมื่อตถาคตนิพพานไปแล้ว อะไรที่ขัดต่อพระวินัย ห้าทำ” อย่างยาฝิ่น เฮโรอิน สมัยนั้นไม่มี เวลานี้ก็สงเคราะห์เข้าไปในยาเสพติด เช่น สุรา ยาเมาด้วย

            ทีนี้ถ้าท่านสงเคราะห์ในด้านอนุญาตให้ปฏิบัติได้อย่างผลไม้ ท่านตรัสไว้ ๘ อย่าง ขนาดไหนและเว้นขนาดไหนเราทำไม่ได้แน่ ถ้าเป็นขนาดที่ท่านอนุญาต เรากรองเสียก็ใช้ได้

อันนี้ความจริงในวินัยมีอยู่ แต่ท่านถืออย่างไรก็ไม่ทราบทำให้ชาวบ้านหลงผิด แต่ว่าระวังให้ดีเถอะ หน้าวัดไม่ฉัน แต่หลังวัดกระป๋องเกลื่อนหมด เพื่อน ๆ กันมีเคยถาม “เฮ้ย วัดแกกินหรือเปล่าวะ...?”

            “นี่พระพุทธเจ้าไม่ทรงห้าม ก็ไม่น่าไปเว้นให้ชาวบ้านเขาเข้าใจผิด มันกลายเป็นมายา เจ้าเล่ห์ ใช่ไหม....หลอกเขาอีก กิเลสมันก็กินหัวผุตรงไปตรงมาเสียดีกว่า”

ผู้ถาม  :            “แล้วพระที่รับเงินหรือไม่รับเงินล่ะครับ...?”

หลวงพ่อ  :      “ที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามการรับเงินรับทอง ซึ่งเป็นของรูปิยะ วินัยข้อนี้

บัญญัติไว้ชัด รับเองก็ดี ให้คนอื่นรับเอาก็ดี หรือคนอื่นเก็บไว้เพื่อตนก็ดี เป็นอาบัตินิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ หมด ก็ล่อเสียเองไม่ดีกว่าหรือ ให้คนอื่นรับเดี๋ยวก็ใช้หมด เกิดโมโหอีก

            และประการที่ ๒ ฉันไม่รับเงิน โกหกชาวบ้านอีก แต่จิตถือว่าเป็นของของตัว ใช่ไหม....

            ทีนี้พระพุทธเจ้าทรงห้ามข้อนี้เพราะอะไร เพราะอย่าเอาจิตไปติด เดี๋ยวจะหาว่ารวย คิดว่ารวยมันจะเกิดกิเลส ถ้าเรารับคิดว่าไม่เป็นของเรา รับกี่บาทเป็นของสงฆ์หมดแล้วจิตอย่าไปติด เขาให้มาก็ไปทำสาธารณประโยชน์ อะไรที่จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนกลางได้ เราก็ทำให้หมดไป

            เพื่อนพระด้วยกันไม่มีอาหารจะกิน ก็จัดเป็นอาหารถวายพระเป็นสังฆทาน

            การก่อสร้างในวัดมีขึ้น เราไปร่วมก่อสร้างกับเขาก็เป็นวิหารทาน

            ส่วนใดเป็นเรื่องของธัมมะธัมโม เอาเงินไปร่วมลงทุนด้วยเป็นธรรมทาน

            ถ้าทำได้อย่างนี้ เจ้าของถวายได้อานิสงส์หลายอย่าง เจ้าของได้มากขึ้น เราก็ไม่มีโทษตามพระวินัย วินัยปรับเฉพาะจิตคิดโลภเท่านั้นแหละ

            ถ้าพระอรหันต์ท่านรับไปปรับท่านได้เมื่อไร พระอรหันต์ท่านรับไหม...ท่านรับ ท่านไม่โกหกชาวบ้านหรอก

            มีอยู่ตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพาน ตรัสว่า

            “เมื่อตถาคตนิพพานไปแล้ว ในกาลภายหลังสิกขาบทเล็กน้อยในบางสิกขาบทที่ไม่เหมาะกับกาลสมัย ให้สงฆ์เพิกถอนได้”

            ทีนี้คำว่า เพิกถอน ต้องประชุมสงฆ์ทั้งโลก เราทำไม่ได้ เราก็ถอนของเราเอง ชนเลย ก็มีเท่านี้ ถ้ารับรองก็ดี ให้คนอื่นรับก็ดี คนอื่นเก็บไว้เพื่อตนเองก็ดี เรารู้อยู่เป็นอาบัติเองเท่ากัน แล้วให้ชาวบ้านรับทำไมแล้วก็มีโทษอีกคือโมโห

            อย่าง เจ้าคุณโพธิวงศาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอ่างทอง ท่านบอกว่าตอนที่ท่านเป็นเปรียญอยู่ที่วัดเบญจฯ มีวันหนึ่งเขาโทรเลขจากบ้านไปที่วัดเบญจฯ ว่าเวลานี้โยมที่บ้านป่วยหนัก ให้มา

            ท่านบอกว่า เวลานั้นท่านทราบ ท่านเก็บสตางค์มีเงินอยู่ ๘๐๐ บาท เรียกเด็กเข้ามาบอกว่า เวลานี้โยมป่วยจะเอาเงินไปใช้ ไอ้เด็กบอกว่าเหลือ ๒๐๐ บาทครับ ท่านก็ถามว่าอีก ๖๐๐ บาทไปใหน มันบอกว่าใช้หมดแล้วครับ ท่านบอกว่าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นมา เก็บเองดีกว่า ไม่ต้องมีโมโห

            อันนี้จิตไปโกรธเด็ก โกรธเด็กมันก็เป็นบาป พอโกรธจิตก็เศร้าหมอง ท่านบอกว่า

            “จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคคติ ปาฏิกังขา” ถ้าจิตเศร้าหมองเวลานั้นถึงแม้เราจะมีบุญอะไรก็ตาม ตายแล้วลงนรกก่อน ดีไหม...ก็ตรงไปตรงมาไม่ดีหรือ ดีไหม...เขาให้เรารับ ชาวบ้านไปพูดว่าองค์นั้นรับสตางค์ เขาไม่ชอบใจเขาก็ไม่ให้ มันเปิเผยดีกว่า ถ้าเราไม่รับทีหลังเขารู้ว่ารวยมันซวยจัด ใช่ไหม...สู้กันตรงไปตรงมาดีกว่า อันนี้มันเลี่ยงไม่ได้

            ที่ว่าไม่รับ ไม่ยินดี วัดนั้นมีการก่อสร้างไหม...พระวัดนั้นมีการป่วย ป่วยแล้วรักษาโรคหรือเปล่า เวลารักษา เอาอะไรมารักษา จะกินเข้าไปถ้าอะไรไม่พอกิน จะเอาอะไรมาซื้อ เงินซื้อ ใช่ไหม...ถ้าขึ้นรถขึ้นเรือ เขาเก็บสตางค์แล้วจะไปได้ยังไง ว่าไง...

            นี่พูดเสียให้รู้ว่า ทำอย่างนี้คบหรือไม่คบ ฉันให้เลือกเอาตามชอบใจ ใช่ไหม...คบก็คบไม่อยากคบก็คบ เอ๊ะ...ยังไง...อีตรงนี้เห็นจะฟังยากหน่อยนะ

            ความจริงอาตมาคิดว่าตรงไปตรงมาดีกว่า ถ้าเขาไปรู้ทีหลังจะคิดยังไง เขาก็เสียใจ เวลาที่เรารับ ต่อหน้าคนเรารับ ลับหลังคนเรารับ อันนี้ทำให้จิตสบาย”

ผู้ถาม  :            “แล้วเงินที่เขาถวายในขณะเป็นพระ เมื่อสึกมาเป็นฆราวาสแล้ว จะนำมาใช้ได้ไหมคะ...?”

หลวงพ่อ  :       “เรื่องเงินที่เขาถวายในฐานะเป็นพระ หรือศัพท์ที่เขาเรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า เงินสาธุ ก่อนที่จะให้เขาสาธุก่อนนะ ถ้าสึกมาแล้วจะนำมาใช้ไม่ได้ต้องมอบให้แก่สงฆ์

                        แล้วเงินพระนี่ถึงแม้ถวายเจาะจงเป็นส่วนตัว ก็ใช้นอกรีตนอกรอยไม่ได้ ลงอเวจีเลย คำว่าส่วนตัวต้องอยู่ในขอบเขตของความเป็นพระ หมายถึง หิวข้าวไม่มีข้าวกินเอาไปซื้อได้ ไม่มีผ้าจะนุ่งไปซื้อได้ ป่วยไม่มียารักษาโรคไม่มีค่าหมอไปซื้อได้ กุฏิมันจะพังก็ซ่อมแซมได้ ถ้าไปซื้อนาให้เขาเช่าซื้อข้าวขาย มันไม่ใช่เรื่องของพระแล้ว ถ้าซื้อนาต้องเป็นนาของวัด ซื้อข้าวเข้ามาเพื่อประโยชน์แก่วัด ประโยชน์ต่อสงฆ์

ตอนที่บวชกับหลวงพ่อปาน วันแรกท่านสอน ท่านบอกว่า “เงินที่เขาถวายเข้ามาใน ๑ ปี ถ้ามีเหลืออย่าให้เกิน ๑,๐๐๐ บาท ถ้าเกินต้องทำอะไรให้หมดไป เงินปีนี้อย่าให้เหลือถึงปีหน้า”

            ก็ถามท่านว่า “ถ้าเขาถวายวันสิ้นปีล่ะ”

            ท่านบอกว่า “ก็ตั้งใจไว้ก่อนว่า ปีหน้าจะทำอะไร” มันจะต้องมากกว่าเงินวันนั้น สร้างส้วมหลังเดียวก็มากกว่าแล้ว อันนี้ท่านตัดไว้เลย ดีจริง ๆ แล้วทำให้อารมณ์เราสบาย ความรู้สึกว่ามีสตางค์น่ะไม่มีทุกวันนะ ที่ญาติโยมให้มาน่ะ ก่อนนี้ตั้งเยอะแยะ มันยังไม่พอกับหนี้ที่มีอยู่นะ หนี้เป็นล้าน สบายโก๋

            แต่พระวินัยนี่มีความสำคัญมาก ที่นักบวชจะต้องระมัดระวังก็มีอยู่ ๑๗ สิกขาบท ดีไม่ดีตั้งแต่วันแรก อาจจะต้องอาบัติที่มีความหนักมากทำให้สังฆกรรมเสียก็ได้ นั่นก็คือปาราชิก ๔ ข้อ กับสังฆาทิเสส ๑๓ ข้อ ถ้าเผลอโดยเฉพาะอย่างยิ่งปาราชิก อาจจะขาดจากความเป็นภิกษุตั้งแต่บวชวันแรกก็ได้ เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาบัตินี่ไม่เคยให้อภัยนะ รุ้อยู่ก็เป็นอาบัติ ตั้งใจอยู่ก็เป็นอาบัติ เผลอไปหรือสงสัยจะเป็นอาบัติ รู้หรือไม่รู้ก็เป็น

            แล้วก็ส่วนใหญ่มักจะสอนว่าอาบัติบางสิกขาบท บางส่วนถ้าละเมิดแล้วแสดงตก ก็ขอบอกว่ายิ่งแสดงยิ่งตกนรก ถ้าละเมิดพระวินัยจัดว่าเป็นความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปาราชิกข้อที่ ๒ ที่ขาดได้ง่ายก็คือ ถือเอาทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่เขาไม่ให้ตั้งแต่ราคา ๑ บาทเป็นอาบัติปาราชิก ข้อนี้ต้องระวังให้มาก คำว่า “วิสาสะ จงอย่ามีในอารมณ์ ครูบาอาจารย์สมัยก่อนบางท่านบอกว่าไม่เป็นไร เราชอบพอกันถือเป็นวิสาสะได้ อันนี้อย่าถือ เวลาปฏิบัติเป็นอธิศีลต้องปฏิบัติให้ถูก นั่นก็หมายความว่า ขึ้นชื่อว่าทรัพย์สินต่าง ๆ ถ้าหากเขาไม่อนุญาตให้เราจงอย่าหยิบเป็นอันขาด เพราะเวลานี้ของเล็กน้อยราคามันก็ถึง ๑ บาท ถ้าหยิบขาดจากความเป็นพระทันที คือว่า อาบัตินี้ไม่ต้องรอโจทก์

            ฉะนั้นการบวชสมัยก่อนมีคำว่าขอพรรษา (เดี๋ยวนี้เขาตัดทิ้งไปแล้ว) ว่า “นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คเหตวา” ซึงแปลเป็นใจความว่า ข้าพเจ้าขอรับผ้ากาสาวพัสตร์มาเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ที่นักบวชทุกคนลืมข้อนี้ไม่ได้เด็ดขาด”

Visitors: 355,915